วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อินถวา



อินถวานางฟ้าแห่งวังสามหมอ
ตำนานพื้นบ้านแต่ละตำนานของภาคอีสาน ซึ่งบรรพบุรุษได้ผูกเรื่องแต่งขึ้นไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ฟังจากการเล่าของผู้เฒ่าคนแก่ที่เป็น ปราชญ์หมู่บ้าน บ้าง อ่านจากหนังสือผูกที่เก็บไว้ในวัดบ้าง หรือชม หมอลำเรื่องที่แสดงกันอยู่บนเวทีกลางแจ้งบ้าง นอกจากจะท าให้เกิดความสนุกสนาน เกิดความสงสาร และเกิดความสะใจในเนื้อเรื่องบางตอนแล้ว ยังเป็นวรรณกรรมที่แฝงไว้ด้วยคุณธรรมและจริยธรรม สอนให้ผู้คนทั้งหลายประกอบแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว ทั้งสิ้น
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เจ้าเมืองเชียงสม เชียงสา มีธิดาอยู่องค์หนึ่งนามว่า นางอินถวา ซึ่งนอกจากจะมีรูปร่างสิริโฉมงดงาม เปล่งปลั่งแล้ว จิตใจของนางยังเปี่ยมล้นด้วยความเมตตากรุณา และในกาลครั้งนั้นนางยังอยู่ในวัยเด็ก ได้ลูกจระเข้ตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ในโอ่งน้ า เช้า-เย็นเธอก็จะนำเอาอาหารไปป้อนจระเข้ทุกวัน เมื่อจระเข้เติบโตขึ้นมา นางอินถวา ก็น าเอาไปปล่อยลงในสระน้ าเลี้ยงไว้ข้างคุ้มเจ้าเมือง วันเวลาได้ล่วงเลยมาจนกระทั่งเธอมีอายุได้ ๑๖ ปี หรือวัยเต็มสาว เธอก็มีสิริโฉมงดงาม เปล่งปลั่ง เป็นที่หมายปองของเจ้าชายผู้ครองหัวเมืองน้อยใหญ่ทั่วไป แต่ความผูกพันของนางกับจระเข้ก็ยังมีความแน่นแฟ้นต่อกันอยู่เสมอ เธอออกไปหาจระเข้และขี่หลังเพื่อหยอกเอิน อาบน้ า ชำระร่างกาย และเก็บดอกบัวขึ้นไป
บูชาพระเป็นประจำทุกวัน
ตกเย็นวันหนึ่ง นางอินถวา ได้ขี่หลังเจ้าจระเข้ยักษ์ลงอาบน้ าในสระด้วยความส าราญใจ ขณะที่เธอกำลังสระผมอยู่นั้น หวีได้หลุดจากมือตกลงไปในน้ า นางก็ใช้คว้าตาม จึงเป็นเหตุให้นางพลัดตกจากหลังจระเข้ลงไปในน้ าด้วย จระเข้ใหญ่เห็นเช่นนั้น ก็เกรงว่านางผู้มีพระคุณจะจมน้ าตาย เพราะคิดว่าเธอว่ายน้าไม่เป็น จึงพุ่งตัวเข้าไปใช้ปากคาบเอานางไว้
อาจจะเป็นเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน ตามธรรมชาติของจระเข้แล้ว มีขากรรไกรข้างบนเพียงด้านเดียว เมื่อมันงับหรือคาบอะไรไว้แล้ว ต้องกลืนลงท้องทุกรายไปก่อนจึงจะอ้าปากได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าชาละวันใหญ่จึงกลืนนางลงท้องไป และมันก็ไม่สามารถขย้อนหรือสารอกเอานางออกมาได้ จนกระทั่งนางถึงแก่ความตายในท้องของมัน ด้วยความกลัวต่ออาญาแผ่นดินในคดีฆ่าและกินผู้มีพระคุณเป็นอาหาร เจ้าจระเข้ยักษ์จึงตัดสินใจหลบหนีจากสระในคุ้มเจ้าเมือง ไปอาศัยน้ำปาววังน้ำใหญ่เป็นที่อาศัยหลบซ่อนตัว
เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ ทราบถึงเจ้าเมือง ผู้เป็นบิดาของนางอินถวา ว่า ลูกสาวได้หายไปพร้อมกับจระเข้จึงมั่นใจว่า ลูกสาวต้องถูกเจ้าจระเข้คาบไปกินแล้วอย่างแน่นอน จึงสั่งให้
อามาตย์ เสนา น้อยใหญ่ออกติดตาม โดยแกะรอยเท้าจระเข้จากสระน้ าข้างคุ้มเจ้าเมืองไปจนถึงป่าแล้วหายไปในวังน้ำใหญ่ เจ้าเมืองจึงสั่งล้อมวังน้ำใหญ่นี้เอาไว้ ประกาศหาคนดีมีวิชาหรือ หมอจระเข้มาปราบให้ได้ต่อมาไม่กี่วันได้มี หมอจระเข้มาปราบเจ้าชาละวันตัวใหญ่ ซี่งหมอปราบจระเข้ ๒ คนแรกเป็นชายผู้ขมังเวทย์ แต่ในที่สุดวิชาอาคมสู้เจ้าจระเข้ไม่ได้ จึงท าให้หมอจระเข้ทั้ง ๒ คน กลายเป็นอาหารอันโอชะของมันไป และอีกไม่กี่วันต่อมาหมอจระเข้คนที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้หญิงก็อาสาสมัครเข้ามาปราบเจ้าชาละวันตัวเก่ง และเธอก็ใช้วิชาอาคมพร้อมทั้งไหวหริบปฏิภาณอันเยี่ยมยอดเข้าปราบจระเข้ตัวนี้จนสำเร็จ
เมื่อจัดการผ่าท้องจระเข้ออก ก็ได้พบศพหมอจระเข้ ๒ คน รวมทั้งศพนางอินถวา ซึ่งยังมีเป็นบางส่วนหลงเหลืออยู่ เจ้าเมืองผู้เป็นบิดามีความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ได้สั่งให้จัดการท าบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้หมอจระเข้ ๒ คน พร้อมประกาศชื่อวังน้ าใหญ่แห่งนี้ว่า วังสามหมอมาตั้งแต่บัดนั้น และวังสามหมอแห่งนั้น ก็กลายมาเป็นอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบัน
ส่วนศพของลูกสาวนั้น เจ้าเมืองผู้เป็นบิดาได้ให้นำไปฝังไว้ที่ข้างคุ้มเจ้าเมือง และต่อมาไม่นานนักสถานที่ฝังศพของลูกสาวเจ้าเมืองก็มีต้นไม้ต้นหนึ่ง มีดอกสีขาว สวยงามมากเกิดขึ้นมา เจ้าเมืองคงคิดถึงลูกสาวมาก จึงตั้งชื่อต้นไม้ต้นนั้นว่า อินถวามาตั้งแต่บัดนั้น
ต่อมา ต้นอินถวาซึ่งมีดอกขาว ได้มีการปลูกกันแพร่หลายในภาคอีสาน และต่อมาได้แพร่พันธุ์ไปยังภาคกลางและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย และต้นอินถวานี้ในต าราพืช เรียกว่า ต้นพุทธซ้อนเป็นไม้ดอกที่ปลูกง่ายและปลูกได้ทุกเขตของดินฟ้าอากาศ และต้นไม้ชนิดนี้ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า ต้น คาดิเนียอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง :
วัฒนา ช้างรักษา. ต านานพื้นบ้าน : อินถวานางฟ้าแห่งวังสามหมอ. อุดรธานี: ไอโอนิคเพรส, ๒๕๔๑. นิทานเรื่อง นางอินถวาอ าเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ปี พ.ศ.๒๕๒๙

…………………………………………….

กดจุดที่หน้า....ทะลุถึงภายใน



การนวดหน้า มีประโยชน์ถึงภายในได้
กดจุดที่หน้า....ทะลุถึงภายใน
ศาสตร์จีนโบราณมักให้ความสำคัญกับโหงวเฮ้งบนใบหน้า โหงวเฮ้งที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงแต่ตำแหน่งของอวัยวะ ตา แก้ม ปาก จมูก คิ้ว เท่านั้น หากยังรวมถึงราศีหรือสภาพผิว สีสันบนในหน้า หรือจุด เม็ด รอยด่างดวงที่เกิดขึ้นอีกด้วยนั่นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสามารถบ่งบอกได้ ไปถึงภายใน ใครมีใบหน้าสดชื่นผ่องใส สุขภาพก็มักจะดีไปด้วย ในทางตรงกันข้าม หากใบหน้าหมองคล้ำก็จะสะท้อนถึงระบบต่างๆ ในร่างกายที่เริ่มแปรปรวนเมื่อรู้ความผิดปกติ ศาสตร์บรรพชนจึงรู้จักที่จะช่วย ปรับการทำงานให้อวัยวะภายในทำงานให้สมดุลด้วยวิธีการ กดจุดเพียงการใช้ปลายนิ้วและฝ่ามือ กด-ปล่อย กด-ปล่อยช้าๆ ไม่แรง แต่เป็นจังหวะเท่าๆ ไล่ไปตามจุดสำคัญต่างๆ บนใบหน้า เป็นการช่วยขับสารพิษที่คั่งค้าง กระตุ้นทำให้เกิดการไหลเวียนของระบบภายในได้ดีขึ้น มาดูกันว่าแต่ละจุดถ้าเกิดมีความผิดปกติเกิด ขึ้น เช่น สิว ผด ผื่น บวม แดง ลอก ระคายเคือง อักเสบ มีความหมายถึงอะไรกันบ้าง แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับทุกจุด ต้องดูด้วยว่าไม่ได้มีปัจจัยหรือสิ่งเร้าอื่นๆ ทั้งฝุ่น ควัน เจล สเปรย์ ยาย้อมผม หรือเครื่องสำอางนานาชนิด 
1.กะโหลกเหนือหน้าผาก -ลำไส้เล็ก ถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ
2.แนวโคนผม - ลำไส้ใหญ่
3.หน้าผาก - ลำไส้เล็ก อวัยวะการย่อยอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ต่อมหมวกไต เหนือ*หว่างคิ้ว-ตับ กินอาหารรสจัด
4.กลางระหว่างคิ้ว - ตับอ่อน
5.คิ้ว หรือขมับ - การทำงานของตับ
6.สันจมูกตลอดแนว - ตับและส่วนที่สัมพันธ์กับตับ
7.ปลายจมูก - หัวใจ ระบบสืบพันธุ์ ความดันสูง
8.ดวงตาขวา - ตับ ถุงน้ำดี ภูมิแพ้
9.ดวงตาซ้าย - ม้าม ตับอ่อน ภูมิแพ้
10.ใต้ตา-ไต หู -ไต ต่อมหมวกไต ฟันกราม
11.แก้มส่วนบน - ปอด ไซนัส
12.แก้มส่วนล่าง - เหงือก ฟัน ภูมิแพ้ หวัดเรื้อรัง
13.โหนกแก้ม - ปอด การหายใจ
14.รอบปาก - ระบบกระเพาะอาหาร ระบบขับถ่าย ลำไส้เล็ก ใหญ่ ใต้ปากเหนือคาง-ฮอร์โมนไม่สมดุล รังไข่
15.ปลายคาง - กระเพาะอาหาร ลำไส้
16.คอ หน้าอก – เครียด
……………………………………



จดหมายจากพ่อ



พ่อของผมเป็นคนดุ เสียงดังและมักจะอารมณ์เสียกับเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ เมื่อผมยังเป็นเด็กวัยรุ่น ผมไม่เคยเข้าใจกับคำสั่งของพ่อเลย บางอย่างมันก็เป็นเรื่อง ที่ฝืนความรู้สึกของผมโดยสิ้นเชิง การไปเตะฟุตบอลแล้วกลับบ้านค่ำ เหมือนเพื่อนคนอื่นไม่ถูกต้องนัก ในสายตาของพ่อ ผมต้องกลับมาช่วยงานที่บ้านทุกวัน บางครั้งผมก็คิดว่าพ่อไม่เคยเข้าใจผมเลย ไม่ได้รักผมเลยแม้แต่นิดเดียว
เดือนธันวาคมของทุกปี โรงเรียนของผมมีการจัดงานวันพ่อ โดยมากจะมีการจัดบอร์ดเกี่ยวกับในหลวง แต่ปีนี้มีอะไรที่พิเศษกว่า อาจารย์ให้พวกเราเขียนการ์ดวันพ่อ การ์ดจะต้องถูกทำขึ้นเองและให้อาจารย์ตรวจก่อนส่งทางไปรษณีย์ไปที่บ้านของแต่ละคน สำหรับผมแล้วเรื่องการ์ดนี้ไม่ได้มีความสำคัญไปมากกว่า การได้เตะฟุตบอล หรือว่าเตะตะกร้อ กับเพื่อนเลย มันออกจะเป็นความกระดากอายด้วยซ้ำ ที่จะต้องเขียนการ์ดอวยพรให้กับพ่อ หลายวันนั้นผมทำอะไรหลายอย่างกว่าจะได้ทำการ์ด ก็เป็นวันสุดท้ายก่อนที่จะส่งการ์ดสีฟ้า ทำมาจากกระดาษแข็งที่เหลือมาจากจัดบอร์ดที่โรงเรียน ลายขลิบสีทองข้างๆผมก็ได้มาจากหมวกวันปีใหม่เก่าๆของน้อง ผมเขียนข้อความลงไปว่า ขอให้พ่อมีความสุขและหายป่วยจากโรคที่เป็นอยู่
ผมคิดว่าถ้าผมเป็นอาจารย์ไอ้การ์ดใบนี้คงได้คะแนนไม่เกินห้าจากเต็มสิบแน่ๆ  สองวันต่อมาผมกะว่าการ์ดจะต้องถูกส่งมาถึงที่บ้าน ทุกเย็นเมื่อกลับถึงบ้านผมจะรีบไปที่ตู้ไปรษณีย์เพื่อที่จะเก็บการ์ดของผมก่อนพ่อจะได้รับมัน หลายวันต่อมาผมก็ไม่เห็นมีการ์ดส่งมาที่บ้าน แล้วผมก็ลืมเรื่องนี้ไป วันหนึ่งพ่อใช้ให้ผมไปหยิบของที่โต๊ะบัญชี เมื่อไขล็อคกุญแจและดึงลิ้นชักออกมา ผมพบการ์ดใบนั้นวางอยู่ ผมไม่รู้ว่าพ่ออ่านมันรึยัง ความรู้สึกของผมตอนนั้นคือเจ้าการ์ดใบนี้คือสิ่งที่ไม่น่าเก็บไว้ มันไม่ได้ทำมาจากความตั้งใจของผมเลยมันน่าจะหายไป  แต่ว่าผมก็ยังไม่อยากจะทิ้งมันไปเลยนำมันซ่อนไว้ในลิ้นชักข้างๆกัน ต่อมาเมื่อผมเปิดลิ้นชักอีกครั้งก็พบการ์ดใบนี้วางอยู่เสมอ คราวนี้ทุกครั้งที่ผมเจอมันผมจะนำมันไปเก็บไว้ที่อื่นเสมอ และไม่ว่ากี่ครั้งที่ผมเปิดลิ้นชักเดิมก็จะพบว่ามันอยู่ที่เดิมเสมอ ครั้งสุดท้ายที่ผมพบมัน ผมเก็บมันไว้ในที่ที่คิดว่าจะไม่เจอมันอีกเลย และ เรื่องนี้พ่อกับผมไม่เคยพูดถึงมันเลย
จากนั้นไม่นานพ่อก็จากไปด้วยโรคประจำตัว ห้องของพ่อเหมือนกับถูกปิดตาย ไม่มีธุระจำเป็นจริงๆหรือว่าทำความสะอาด ก็จะไม่มีคนเข้าไปในห้องนั้นเลย ผมเข้ามาเรียนต่อในที่ใหม่มีเรื่องใหม่ ให้พบให้เจอทุกวัน ความทรงจำหลายอย่างเกี่ยวกับพ่อก็จางหายไป....

จนวันหนึ่งผมเจอปัญหา ในหัวของผมมีแต่เรื่องสับสน อยากหนีปัญหาไปไกลๆไม่อยากเจอแม้แต่ผู้คน ผมกลับมาที่บ้านไขกุญแจห้องพ่อแล้วเข้าไปในนั้น ที่ห้องของพ่อทุกอย่างยังเหมือนเดิม ข้าวของทุกชิ้นยังอยู่ครบเหมือนครั้งที่พ่อยังอยู่ ในห้องเงียบมากผมได้ยินแม้แต่เสียงหัวใจของตัวเอง ผมเดินไปที่โต๊ะบัญชีที่พ่อมักจะนั่งอยู่ที่นั่นเสมอ ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าพ่อยังอยู่พ่อจะทำอย่างไร จะแนะนำผมอย่างไร แล้วจะช่วยผมแก้ปัญหาอย่างไร ทันใดนั้นผมคิดถึงเรื่องเก่าๆเรื่องนึงขึ้นมา ผมรีบเอากุญแจไขลิ้นชักโต๊ะบัญชี ด้วยความหวังว่ามันจะยังอยู่ เมื่อเปิดลิ้นชักผมก็พบมัน การ์ดสีฟ้าขลิบทองยังดูโดดเด่นอยู่ลิ้นชักของพ่อ มันยังอยู่ ที่เดิมเหมือนทุกครั้ง

   ถึงตอนนี้ผมรู้แล้วว่าพ่อรักผมมากขนาดไหน
    ทุกครั้งที่การ์ดใบนี้หายไปพ่อจะหามันแล้วนำมันมาเก็บไว้ที่เดิม
   ไม่ว่ามันการ์ดที่ไม่มีราคาค่างวดใดๆและแทบจะหาความสวยงามใดๆไม่ได้เลย พ่อก็เก็บมันไว้เสมอ และ
   สิ่งที่พ่อสอนผมด้วยการกระทำมันมากกว่าคำพูดทั้งหมด
   พ่อสอนให้ผมมีความรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง
   ให้มีความอดทนและไม่ท้อแท้กับปัญหาใดใด
   เหมือนพ่อเคยเจอเสมอและผ่านมาได้ทุกครั้ง

ผมรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าปัญหาที่ผมเจอตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย กำลังใจจากการ์ดใบนั้นเหมือน จะค่อยๆแผ่ซ่านจากมือเข้ามาสู่หัวใจผม ในใจของผมรู้สึกอุ่นขึ้นมาอย่างประหลาดเหมือนกับพ่ออยู่ในนั้น ผมวางการ์ดเก็บไว้ที่ลิ้นชักตามเดิมและออกมาจากห้องของพ่อด้วยความรู้สึกที่แตกต่าง กับเมื่อตอนที่เข้ามา ก่อนประตูจะปิดลงผมบอกออกไปด้วยความรู้สึกที่พ่อก็มีให้ผมมาตลอดว่า "พ่อครับ ผมรักพ่อ "

  อ้นลูกรัก
จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นก่อนที่พ่อจะจากโลกนี้ไป หวังว่าเมื่อลูกได้อ่านแล้ว จะได้ข้อคิดเพื่อนำไปปฏิบัติในอนาคต เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ทำผิดซ้ำกับที่พ่อเคยทำมาแล้ว การ์ดที่ลูกเขียนให้พ่อนั้น เป็นการ์ดอวยพรที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตของพ่อ พ่อจึงเก็บมันไว้ในลิ้นชักใกล้ตัว และล็อกกุญแจไว้ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีใครเอาการ์ดใบนี้ไปจากพ่อ และเพื่อจะได้หยิบขึ้นมาเชยชมทุกครั้งที่พ่อคิดถึงลูก
ครั้งแรกที่ลูกนำการ์ดไปซ่อนนั้น พ่อตกใจแทบแย่ นึกว่าตัวเองแก่จนหลงลืมเอาการ์ดไปวางไว้ที่อื่น จนพ่อเจอมันที่ลิ้นชักข้าง ๆ ก็เลยโล่งใจและพ่อก็เข้าใจไปเองว่าลูกคงต้องการจะบอกอะไรกับพ่อโดยไม่ใช้คำพูด ในครั้งต่อ ๆ มาลูกได้นำการ์ดนั้นไปซ่อนในตู้เสื้อผ้าบ้าง ในตู้โชว์บ้าง พ่อก็อุตสาห์ตามหามันจนเจอ พ่อรู้สึกว่า เป็นเกมส์แรกในรอบยี่สิบปีที่พ่อได้เล่นกับลูกอย่างสนุกสนาน มันทำให้พ่อนึกถึงวันวานเก่า ๆ ของเราที่เคยเล่นฟุตบอลด้วยกันที่สนามหญ้าข้างบ้าน ไม่น่าเชื่อว่าคืนวันจะผันผ่านไปอย่างรวดเร็วอย่างนี้ พ่อโกรธตัวเองที่ไม่มีเวลาเล่นกับอ้นอย่างที่ใจต้องการ ตอนที่ลูกเล่นฟุตบอลกับเพื่อนจนกลับบ้านดึกนั้น พ่อรู้สึก เจ็บใจตัวเองที่ไม่สามารถเป็นเพื่อนเล่นของลูกได้ แม่เคยบอกให้พ่อชวนลูกเล่นฟุตบอลด้วยกันเหมือนแต่ก่อน แต่พ่อคิดว่ามันเป็นเกมส์ของเด็กผู้ชาย จะเอาคนแก่ ๆ อย่างพ่อไปเล่นด้วยก็คงไม่สนุก สุดท้ายพ่อก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเป็นห่วงลูกที่ต้องกลับบ้านดึก พ่อเคยผ่านชีวิตหัวเลี้ยวหัวต่อในวัยนั้นมาแล้ว จึงต้องเป็นห่วงลูกเป็นธรรมดา แต่ลูกพ่อก็นำชีวิตโลดแล่นผ่านจุดนั้นมาได้อย่างสวยงาม
พ่ออยากบอกว่าพ่อภูมิใจในตัวลูกมากนะอ้น ในอดีตนั้นพ่อเคยมีโอกาสจะพูดหลายครั้งว่าพ่อรักอ้น และพ่อภูมิใจที่ได้มีลูกชายที่เป็นคนดีมีความสามารถอย่างลูกอ้น แต่พ่อก็พูดไม่ออก คงเป็นเพราะพ่อเป็นผู้ชายมั้ง เวลาจะพูดอะไรซึ้ง ๆ สักหน่อยก็ดูเคอะเขินเสียเหลือเกิน การได้สื่อสารกันอย่างไร้เสียง เช่นการเล่นซ่อนหาการ์ดอวยพรนั้น มันก็ดูเป็นผู้ชายดี แม้มันจะไม่ช่วยให้เราเข้าใจตรงกันก็ตาม
พ่อไม่โกรธลูกที่ลูกไม่เคยบอกพ่อด้วยคำพูดว่ารักพ่อ เพราะพ่อก็เข้าใจว่าลูกก็เป็นผู้ชาย จะพูดซึ้ง ๆ ก็ไม่เป็น ดังนั้นทุกครั้งที่พ่ออยากรู้ว่าอ้นยังรักพ่ออยู่หรือเปล่า พ่อก็จะตามหาการ์ดใบนั้นมาดู และมันก็ทำให้พ่อสดชื่นขึ้นเสมอ อ้นลูกรัก พ่ออยากจะสอนลูกเป็นครั้งสุดท้ายว่า ถึงแม้ลูกจะเป็นผู้ชายอกสามศอกก็อย่าอายที่ จะบอกกับลูกของอ้นว่าอ้นรักเขามากเพียงใด อย่าทำผิดเหมือนอย่างพ่อ มีอะไรก็เอาแต่เก็บเอาไว้ไม่ยอมพูด
จดหมายฉบับนี้พ่อเขียนที่โรงพยาบาลหลังจากที่ได้รับทราบจากคุณหมอว่า ชีวิตของพ่อเหลืออีกไม่นานแล้ว พ่อสั่งให้แม่แนบจดหมายนี้ไว้กับการ์ดอวยพรของลูกและเก็บไว้ในลิ้นชักเดิม ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าลูกมาเปิดดูลิ้นชักนี้ก็จะได้อ่านจดหมายด้วย ถึงแม้จะสายเกินไปแล้วแต่พ่อก็อยากจะบอกกับอ้นว่า พ่อรักอ้นนะลูก และพ่อภูมิใจในตัวอ้นมากด้วย

…………………..

ทิฐิ



นานมาแล้วมีชายคนหนึ่งชื่อว่า ทิฐิ เขาเป็นคนที่มีนิสัยอวดดื้อถือดีไม่ต่างจากชื่อ เพราะเมื่อได้ลองเชื่อมั่นสิ่งใดแล้ว ทิฐิคนนี้ก็จะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นไม่เปลี่ยน และจะไม่ยอมรับฟังข้อคิดเห็นที่ผิดไปจากความเชื่อเดิมโดยเด็ดขาด แม้ว่านี่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนเอาจริงเอาจังและเคร่งครัดกับชีวิต แต่บางครั้งเขาก็ดื้อรั้นมากเกินไปจนขาดเหตุผล และทำให้สูญเสียสิ่งดีๆ ในชีวิตมากมาย โดยที่เขาเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน
เนื่องจากทิฐิไม่ใช่คนร่ำรวย ดังนั้นเขาจึงต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย จนกระทั่งมีฐานะขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว ทิฐิจึงคิดหยุดพักตัวเองจากการงาน แล้วเดินทางไปเรื่อยๆ เพื่อเที่ยวชมโลกกว้าง
เมื่อตัดสินใจได้ดังนั้น ทิฐิจึงจัดการฝากบ้านไว้กับญาติพี่น้อง แล้วเก็บสัมภาระออกเดินทางทันที
ทิฐิเดินทางไปยังที่ต่างๆ ชมนั้นแลนี่ และพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในที่เหล่านั้นมากมาย การท่องโลกกว้างของทิฐิน่าจะทำให้เขามีความรู้ดีๆ หรือเกิดทัศนคติใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่มีคนกล่าวคำซึ่งผิดไปจากความรู้หรือความเชื่อมั่นเดิมของเขา ทิฐิก็จะรีบกล่าวแก่คนๆ นั้นทันทีว่า

นั่นไม่ถูกเลยนะ ที่จริงแล้วมันต้องเป็นอย่างที่ข้ารู้มาต่างหาก

สิ่งนี้เองทำให้การเดินทางไปทั่วโลกของเขา แทบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดขึ้นในชีวิตของเขาเลย
จนกระทั่งวันหนึ่งทิฐิได้พลัดหลงเข้าไปในทะเลทรายอันแสนแห้งแล้ง และไร้ผู้คนสัญจร เขาหลงทางอยู่ในดินแดนแห่งนั้นสามวันสามคืน จนกระทั่งอาหารและน้ำดื่มร่อยหรอและหมดลงในที่สุด ทิฐิจึงเดินต่อไปไม่ไหว เขาล้มลงนอนบนผืนทรายอย่างคนสิ้นเรี่ยวแรง
แต่ทิฐิยังไม่อยากตายตอนนี้ ดังนั้นแม้ร่างกายของจะอ่อนระโหยโรงแรงขนาดไหน แต่เขาก็รวบรวมพลังใจของตนเฝ้ากล่าวคำภาวนาขอความเมตตาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือเขาด้วย

ข้าแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดเมตตาข้า ผู้ซึ่งไม่เคยเบียดเบียนใคร ขอทรงประทานน้ำมาให้ข้า โปรดแบ่งน้ำของท่านให้ข้าได้รักษาชีวิตของตนเองไว้ แม้เพียงหนึ่งหยดก็ยังดี

แล้วในตอนนั้นเอง ทิฐิก็เห็นชายแปลกหน้าชาวเยอรมันคนหนึ่งเดินตรงมาหาเขา ทิฐิดีใจสุดจะกล่าว แล้วรีบพูดขึ้นทันทีว่า

โอ้...ท่านผู้เป็นความหวังของข้า โปรดแบ่งน้ำของท่านให้ข้าดื่มด้วยเถิด
ชายคนนั้นยื่นถุงหนังสีน้ำตาลในมือของเขาให้ทิฐิ แล้วกล่าวว่า
นี่คือ วาสซ่าร์ จงดื่มเสียสิ

แต่ทิฐิไม่อยากได้วาสซ่าร์ เขาอยากได้น้ำ ดังนั้นเขาจึงปฏิเสธที่จะรับถุงหนังสีน้ำตาลจากชายแปลกหน้าคนนั้น ชายคนนั้นจึงเดินจากไป
ทิฐิภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง คราวนี้มีชายชาวจีนคนหนึ่งเดินถือถุงหนังสีแดงเขามายื่นให้แก่ทิฐิ
นี่คือ น้ำ ใช่หรือไม่ทิฐิถามชายชาวจีน
นี่คือ ซือจุ้ย จงดื่มเสียสิชายชาวจีนตอบ

ทิฐิรู้สึกไม่พอใจ ตอนนี้เขากระหายน้ำมากเหลือเกินแล้ว แต่ทำไมชายผู้นี้จึงนำซือจุ้ย มามอบให้แก่เขา ทิฐิจึงปฏิเสธถุงหนังสีแดงของชายชาวจีน ชายชาวจีนจึงเดินจากไป
ทิฐิเริ่มภาวนาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีก และครั้งนี้มีผู้หญิงชาวอินเดียคนหนึ่งมาปรากฏกายตรงหน้าของเขาในแทบจะทันที
เธอผู้มีใจเมตตา ขอน้ำให้ข้าดื่มหน่อยเถิด ทิฐิพึมพำคำอ้อนวอนออกจากริมฝีปากที่แห้งผาก
นี้คือ ปานี จงดื่มเสียสิ หญิงชาวอินเดียกล่าวพร้อมกับยื่นถุงหนังสีเขียวให้แก่ทิฐิ แต่นั่นทำให้ทิฐิโกรธมาก เขารวบรวมเรี่ยวแรงทั้งหมดที่มี ยกแขนปัดถุงหนังสีเขียวให้พ้นหน้า แล้วพูดอย่างโกรธเคืองว่า
ข้าไม่เอาของๆ เจ้า ข้าจะตายเพราะขาดน้ำอยู่แล้ว ข้าต้องการน้ำเท่านั้น!
หญิงอินเดียเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เดินจากไปอีกคน ทิฐิเฝ้าอ้อนวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่มีใครนำอะไรมายื่นให้เขาอีกแล้ว
จิตของทิฐิกำลังหลุดลอยออกจากร่างที่ใกล้แตกดับ แล้วในตอนนั้นเองเสียงๆ หนึ่งก็ดังแว่วๆ ให้ได้ยินว่า
ทิฐิคนถือดีเอ๋ย เราช่วยเจ้าแล้ว แต่เจ้ากลับไม่เคยให้โอกาสตัวเองเลย หากเจ้าเปิดใจให้กว้าง และยอมรับในข้อดีของสิ่งที่ไม่คุ้นเคยเสียบ้าง เจ้าก็คงรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในถุงหนังทั้งสามนั้น ต่างก็เป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
เมื่อสิ้นเสียงแว่วนั้น ทิฐิคนถือดีก็สิ้นลมหายใจทันที

เธอทั้งหลาย....

เรื่องราวของทิฐินั้น สอนให้เราเปิดตาตนเองให้กว้าง แล้วมองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยสายตาและหัวใจที่ไร้อคติ หากเธอปิดกั้นหัวใจและสายตาของเธอไว้ เธอก็อาจพลาดสิ่งดีๆ ในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งบางครั้งสิ่งดีๆ เหล่านั้นก็อาจจะไม่หวนกลับมาหาเธออีกแล้ว

หรืออีกนัยหนึ่ง นิทานเรื่องนี้กำลังบอกเธอทุกคนซึ่งนับถือศาสนาต่างกัน แต่กำลังยืนอยู่บนโลกใบเดียวกัน จงอย่าลืมว่า ศาสนาทุกศาสนานั้นถือกำเนิดขึ้นด้วยความปรารถนาที่จะให้มีคนดีๆ อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก แม้คำสอนบางประการจะแตกต่างกัน แม้เสียงสวดมนต์จะเป็นคนละเสียง และธรรมเนียมปฏิบัติก็ไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย แต่เธอทุกคนล้วนได้รับการปลูกฝังให้เติบโตเป็นคนดีเหมือนกัน

ดังนั้นขอให้เธอเปิดใจตัวเองให้กว้าง และเคารพในคำสอนของศาสนาอื่นๆ แม้เธอจะไม่ได้เป็นศาสนิกชนของศาสนานั้น เธออาจจะนำคำสอนของเขามาประยุกต์ใช้กับตัวเองบ้าง ถ้าพบว่ามันเข้ากันได้ดีกับการดำเนินชีวิตของเธอ ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน หากเธอจะนำคำสอนเหล่านั้นมาปฏิบัติ ในเมื่อทุกศาสนาล้วนหมายมั่นที่จะพิชิตยอดเขาเดียวกัน นั่นคือ ยอดเขาแห่งความดี ความรัก และความเมตตา
…………………………….


วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ของขวัญที่มองไ่ม่เห็น



ผู้โดยสารบนรถประจำทางกำลังมองผู้หญิงหน้าตาดีคนหนึ่ง ที่มีไม้เท้าขาวอยู่ในมืออย่างเห็นอกเห็นใจ เธอเดินขึ้นบันไดรถอย่างระมัดระวัง หลังจากชำระค่าโดยสารให้แก่พนักงานแล้วใช้มือคลำหาที่นั่ง ค่อย ๆ ก้าวลึกเข้าไปตามช่องทางเดิน จนกระทั่งเขาจะเป็นฝ่ายกระซิบบอกเมื่อพบที่ว่าง เธอจึงนั่งลง วางกระเป๋าถือไว้บนตัก  และเก็บไม้เท้าเอามาพาดไว้บนหน้าขา 
หนึ่งปีแล้วที่ ซูซานวัย 34 ปีได้กลายเป็นคนตาบอด การวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ผิดพลาด ทำให้เธอต้องตกอยู่ในโลกมืด ไม่อาจมองเห็นได้อีกต่อไป อารมณ์โกธรแค้น สูญเสียและสงสารตัวเอง พลันอุบัติขึ้นและดำรงอยู่นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ก่อนนั้น  ซูซานสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่บัดนี้เธอรู้สึกเหมือนถูกลงทัณฑ์ด้วยเคราะห์กรรมสักอย่างให้กลายเป็นคนไร้ความสามารถ ช่วยตัวเองไม่ได้ กระทั่งกลายเป็นภาระของคนรอบข้าง ทำไมฉันต้องเป็นเช่นนี้ เธออยากสู้คดี หัวใจเธอเต็มไปด้วยความโกรธ แต่ไม่ว่าจะร่ำไห้คร่ำครวญ ตีโพยตีพาย หรือสวดมนต์วิงวอนเพียงใด เธอก็ตระหนักถึงความจริงอันเจ็บปวดว่า สายตาเธอนั้นไม่มีวันกลับคืนมาดีได้ดังเดิมอีกแล้ว
เมฆหมอกแห่งความหดหู่ได้ปกคลุมจิตใจที่เคยมองโลกในแง่ดีของซูซานไปเสียแล้ว เพียงแค่จะใช้ชีวิตให้ผ่านไปในแต่ละวันก็ดูจะสั่งสมถมเพิ่มความหงุดหงิด และเหนื่อยอ่อนให้เธอเกินจะแบกทานไหว ทั้งหมดนี้จึงทำให้เธอต้องผูกพันอยู่กับมาร์ก ผู้เป็นสามีแต่เพียงผู้เดียว มาร์กเป็นทหารอากาศซึ่งรักซูซานจนหมดหัวใจ เมื่อแรกที่เธอนั้นต้องสูญเสียการมองเห็นไปนั้น เขาได้แต่นั่งมองภรรยาจมอยู่กับความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า ถัดมาเขาก็เกิดปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะช่วยเธอกลับมาเป็นคนเข้มแข็งและมี ความมั่นใจในตัวเองเหมือนอย่างที่เคยเป็น
จากประสบการณ์ด้านการทหาร ที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีเพื่อเผชิญกับสถานการณ์อันละเอียดอ่อน เขาพบว่านี่เป็นศึกหนักที่ยากสุดเท่าที่เขาเคยเผชิญมา และแล้วซูซานก็พร้อมจะกลับไปทำงานอีกครั้งหนึ่ง แต่ปัญหายังมีอยู่ว่าเธอจะเดินทางไปทำงานได้อย่างไร
ก่อนนี้เธอ เคยใช้บริการรถประจำทาง แต่ยามนี้เธอกลับวิตกที่จะต้องไปไหนมาไหนโดยลำพัง มาร์กอาสาขับรถไปส่งเธอ แม้ทั้งคู่จะทำงานกันคนละมุมเมืองเลยก็ตาม ความคิดดังกล่าวทำให้ซูซานสบายใจขึ้น ทั้งยังเป็นการสนองความปรารถนาของมาร์กที่อยากดูแลคู่ชีวิตผู้ขาดความมั่นใจ ที่จะเผชิญกับสถานการณ์อันเปราะบางที่สุดเช่นนี้
ในไม่ช้ามาร์กก็ตระหนักว่าความคิดนั้นไม่เข้าท่า วุ่นวาย และสิ้นเปลืองมากเกินไป ซูซานต้องกลับไปขึ้นรถประจำทางอีกครั้ง เขาสรุปกับตัวเอง แต่เพียงแค่คิดจะเอ่ยเรื่องนี้กับเธออย่างไร ก็ทำให้เขารู้สึกหนักใจเสียแล้ว เนื่องจากเพราะเธอต้องการคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด บวกกับยังเป็นคนเจ้าอารมณ์อยู่มาก เธอจะคิดอย่างไรนะ ?” มาร์กอดปรารภกับตัวเองไม่ได้
เหตุการณ์เป็นไปตามที่มาร์กคาดไว้ไม่มีผิด ซูซานกลัวที่จะกลับมานั่งรถประจำทางอีกครั้ง
ฉันตาบอดนะเธอกล่าวอย่างขมขื่น
แล้วฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันกำลังจะไปไหน มาร์กคุณรู้สึกไหมว่าฉันรู้สึกว่าคุณกำลังจะทอดทิ้งฉัน
หัวใจมาร์กพลอย ปวดร้าวเมื่อได้ยินคำพูดของเธอ เขาจึงสัญญาว่าจะอยู่เป็นเพื่อนเธอทุกเช้าและเย็นจนกว่าเธอจะค่อย ๆ คุ้นชิน แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เป็นเวลาสองสัปดาห์ที่ผู้โดยสารบนรถประจำทางสายนั้นได้เห็นมาร์กในเครื่องแบบทหารเต็มยศ  ปรากฏร่างอยู่เคียงข้างเป็นเพื่อนเธอทั้งเช้าและเย็นทุกวัน เขาเฝ้าอดทนสอนให้เธอรู้จักใช้ประมาทสัมผัสอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการได้ยิน เพื่อจะได้รู้ว่าขณะนี้กำลังอยู่ที่ใด รวมทั้งยังสอนให้เธอรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ และช่วยเธอผูกมิตรกับพนักงานขับรถ เพื่อที่เขาคนนั้นจะได้ช่วยดูแล หาที่นั่งให้เธออีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้เขายังทำให้เธอหัวเราะได้แม้ในวันที่ดูจะเป็นปัญหา เช่น ตอนที่เธอหกล้มขณะเดินลงรถ หรือตอนที่เธอทำกระเป๋าถือหล่นจนเป็นผลให้เอกสารทั้งหลายทั้งปวงร่วงเกลื่อนทางเดิน ทั้งคู่จะออกเดินทางด้วยกันตอนเช้า แล้วมาร์กก็จะนั่งแท็กซี่กลับไปทำงานตามปกติ ถึงแม้ว่านี่จะดูเป็นการสิ้นเปลืองและทำให้มาร์กเหน็ดเหนื่อยมากกว่าความคิดแรก แต่เขาก็รู้ดีว่ามีแต่เวลาเท่านั้นที่จะช่วยให้เธอสามารถขึ้นรถประจำทางได้ด้วยตัวเอง
เขายังเชื่อมั่นในตัวเธอเสมอ ซูซานผู้ไม่เคยเกรงกลัวการท้าทายอันใด และไม่ยอมเลิกราอะไรง่าย ๆ ในที่สุด วันที่ซูซานรู้สึกว่าตนพร้อมที่จะเดินทางโดยลำพังก็มาถึง ก่อนจะก้าวขึ้นรถประจำทางในเช้าวันจันทร์ เธอได้โอบกอดมาร์กผู้เป็นสามีและเคยเป็นเพื่อนร่วมทางบนรถที่ดีที่สุดของเธอ ดวงตาของเธอเต็มไปด้วยน้ำตาแห่งความตื้นตันในความซื่อสัตย์ ความอดทน และความรักที่สามีมีต่อเธอ จากนั้นเธอได้กล่าวลา และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองแยกกันเดินทางไปทำงาน จากวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส แต่ละวันดำเนินไปด้วยดี ทว่าลึก ๆ แล้วซูซานไม่เคยรู้สึกดีขึ้นเลย เธอเพียงแต่ทำไปตามปกติ เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง เช้าวันศุกร์ เธอยังคงขึ้นรถประจำทางไปทำงานเช่นเคย และเมื่อกำลังจะลงจากรถนั้น เธอได้ยินคนขับรถพูดขึ้นมาว่า
แหมผมอิจฉาคุณจัง
แรกทีเดียวซูซานไม่มั่นใจว่าเขาพูดกับเธอหรือเปล่า ก็ใครเล่าจะอิจฉาคนตาบอดผู้พยายามรวบรวมความกล้าหาญเพื่อ ที่จะดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ แต่ด้วยความอยากรู้ เธอจึงถามกลับไปว่า ทำไมคุณอิจฉาล่ะ
คนขับรถตอบว่า ผมคงรู้สึกดีมาก ๆ หากมีใครสักคนมาคอยดูแลปกป้องเหมือนอย่างที่คุณได้รับอยู่
ซูซานไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาพูดจึงถามอีก คุณหมายความว่าอย่างไรกัน
เขาตอบว่า คุณรู้ไหมว่าทุกเช้า ๆ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีสุภาพบุรุษหน้าตาดีคนหนึ่งในเครื่องแบบทหาร ยืนตรงหัวมุมถนนคอยเฝ้าดูคุณ เวลาคุณก้าวลงจากรถ รอจนมั่นใจว่าคุณได้ข้ามถนนอย่างปลอดภัยแล้ว และยังคงคอยกระทั่งคุณเดินเข้าไปในอาคารสำนักงานจนเรียบร้อย จากนั้นก็ส่งจูบและคำนับให้นิดหนึ่งก่อนจะเดินจากไป  นี่ละ ผมจึงเห็นว่าคุณเป็นสุภาพสตรีที่โชคดีเหลือเกิน
น้ำตาแห่งความปลื้มปิติค่อย ๆ ไหลรินลงมาอาบแก้มของซูซาน แม้ขณะนี้เธอไม่อาจมองเห็นเขาได้ด้วยสายตาตนเองก็จริง แต่เธอสามารถสัมผัสได้ตลอดเวลาถึงการมีตัวตนอยู่ของมาร์ก เธอช่างโชคดี โชคดีมาก ๆ เพราะเขาได้มอบของขวัญที่มีคุณค่ามากกว่าการมองเห็น
ข อ ง ข วั ญ ที่ เ ธ อ ไ ม่ จำ เ ป็ น ต้ อ ง ไ ด้ เ ห็ น ถึ ง จ ะ เ ชื่ อ
เป็นของขวัญแห่งความรักที่สามรถนำมาซึ่งแสงสว่างไปสู่ทุก ๆ หนแห่งในความมืดมิด

……………………….

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

นักวิชาการ ชู ซูเปอร์ฟลัดเวย์ แก้ปัญหาน้ำท่วม

 

14 พ.ย. 54 หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬา เสนอ “11มาตรการแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ: ซุปเปอร์เอ็กซ์เพรสฟลัดเวย์ หนทางฟื้นความเชื่อมั่นประเทศไทย” โดยระบุว่า ที่ผ่านมาการจัดการน้ำของประเทศไทย ยังเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้โครงสร้าง เช่น การขุดลอกคลอง การผันน้ำเข้าทุ่ง สร้างเขื่อน สร้างฝายชะลอน้ำ ฯลฯ แม้จะสามารถแก้ปัญหาระยะสั้น เห็นผลเร็วได้ แต่ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมใหญ่ได้ ทั้งยังมีส่วนเพิ่มความรุนแรงของปัญหา จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ รวม 11 มาตรการ ประกอบด้วย

1.สร้างระบบทางด่วนพิเศษระบายน้ำท่วม (super-express floodway) ที่จะต้องทำเป็นมาตรการแรก เนื่องจากในปี 2533 กทม.มีทางระบายน้ำในฝั่งตะวันออกที่ยังสมบูรณ์ แต่หลังจาก 10 ปีที่ผ่านมา มีการขยายของเมืองจนกั้นทางระบายน้ำของกทม.ทั้งชุมชนเมือง นิคมอุตสาหกรรม และสนามบินสุวรรณภูมิที่ขวางทางน้ำ ดังนั้นวิธีการสร้างทางด่วนพิเศษระบายน้ำท่วม จะต้องใช้คลองเดิมที่เชื่อมไปยังเขื่อนพระราม 6 ที่ จ.ชัยนาท โดยเวนคืนพื้นที่ริมคลองข้างละ 1 กิโลเมตร อาทิ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แล้วสร้างถนนสูง 6 เมตรทั้งสองข้างเป็นถนนมอเตอร์เวย์ระยะทางยาวกว่า 200 กิโลเมตร โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้จะไม่อนุญาตให้อยู่อาศัย แต่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อน้ำท่วมพื้นที่ตรงนี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งแก้มลิง และเป็นพื้นที่ระบายน้ำ โดยจากการคำนวณ สามารถระบายน้ำได้เท่ากับเจ้าพระยา 2 สายรวมกัน ทั้งนี้วิธีนี้จะมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ต้องขุดแม่น้ำใหม่ ส่วนพื้นที่เวนคืนอาจกระทบชาวบ้าน ซึ่งต้องมีการทำประชาพิจารณ์ หากรัฐบาลเห็นความสำคัญก็ควรเร่งทำ

2.ต้องวางแผนแม่บทควบคุมการป้องกันน้ำท่วมโดยใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มน้ำต่างๆ ควบคุมการถมดินทั้งระบบ ควบคุมการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ล่อแหลมน้ำท่วม ปรับปรุงระบบระบายน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ เช่น ขยายประตูน้ำให้สอดคล้องกับขนาดคลองต่างๆ วางระบบการดูแลคูคลองและขุดลอกสม่ำเสมอ

3.ปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ ที่จะต้องศึกษาระบบน้ำในปีต่างๆ ศึกษากลุ่มเมฆฝนว่า ปีหนึ่งๆ จะมีฝนตกลงมาเท่าไหร่ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีคนทำ แต่ทำไม่ครบ ตรงนี้ต้องแม่นว่าตกที่ไหน ตกเท่าไหร่ ตกเมื่อไหร่ บอกได้ทั้งหมด หลายประเทศทำได้

4.วางแผนพัฒนากทม. และเมืองบริวารในอนาคต ที่จะต้องปิดกั้นการขยายตัวของกทม. เพราะน้ำต้องมีที่ระบายแต่หากเป็นพื้นที่เมืองทั้งหมดก็จะต้องขยายระบบป้องกันอีก เหมือนกับต้องขีด กทม.ไม่ให้โตมากกว่านี้ แต่ต้องขยายเมืองอื่นๆ อาทิ จ.ราชบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี ขยายเมืองออกไป แล้วใช้ระบบขนส่งรถไฟความเร็วสูงเข้ามายังกทม.ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง

5.ใช้มาตรการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมและการประกันภัย เพื่อกองทุนชดเชยน้ำท่วม ทั้งภาษีน้ำท่วมโดยตรงจากพื้นที่ที่มีระบบปิดล้อมป้องกันน้ำท่วม ควบคุมขุดน้ำบาดาล กำหนดระยะเพาะปลูก ออกกฎหมายป้องกันชาวบ้านรื้อคันตามใจชอบ

6.มาตรการควบคุมการใช้ที่ดินและผังเมืองโดยใช้แผนที่เสี่ยงน้ำท่วม

7.ควบคุมการขุดน้ำบาดาล ควบคุมการทรุดของแผ่นดิน ซึ่งจะช่วยให้ระบบระบายน้ำดีขึ้น

8.มาตรการแผนแม่บทกำหนดระยะเวลาการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องกับการแปรปรวนและผกผันของภูมิอากาศในอนาคต เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร

9.มาตรการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่แก้มลิงให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนในพื้นที่ล่อแหล่มเสี่ยงน้ำท่วม

10.ควรเร่งพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการพิบัติภัยทั้งระบบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการพิบัติภัยของภาครัฐ เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้ฝืนคำสั่ง เช่น การรื้อคันกั้นน้ำอย่างที่เป็นอยู่

11.ควรจัดตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องพิบัติภัยและส่งเสริมงานวิจัยทั้งระบบอย่างจริงจัง เพื่อลดพิบัติภัยด้วยความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่

พระคุณจุฬาฯ หาที่สุดมิได้

 

ประสบการณ์ชีวิตในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ย่อมให้คำตอบที่ดีแก่ตัวเราเองได้ว่า  เราควรจะทำอะไรให้แก่จุฬาฯ  ได้บ้าง...  อย่างน้อยๆ  การเข้าประชุม  นิสิตเก่าจุฬาฯ  ที่นัดประชุมไว้ก็เป็นการสำแดงสปิริต  เป็นรูปธรรมที่ดีเยี่ยม  แต่หากได้ร่วมคิดและได้ร่วมทำเพื่อพระนามจุฬาฯ  ก็ยิ่งเพิ่มวาสนา  บุญญาบารมี ให้แก่ตัวเราเองได้เจริญยิ่งขึ้น

                ข้าพเจ้าเป็นคนบ้านนอก  ลูกชาวไร่ชาวนา  ไม่เคยเข้าเมืองหลวงเลย  แต่เมื่อจบ ม. 8  ก็จำเป็นต้องเข้ากรุงเทพฯ  ไม่รู้ว่าจุฬาฯ คืออะไร  อย่างใด ? แต่    วันนี้  ได้สำนึก  รู้  อยู่เสมอว่า  พระคุณจุฬาฯ  หาที่สุดมิได้  จึงได้รับตำแหน่งประธานชมรม  และนายกสมาคม  นิสิตเก่าจุฬาฯ ถึง  8 สมัย โดยไม่อิดเอื้อน  แม้ปัจจุบัน  เพราะมีคติว่า  เราได้ดี  มีความก้าวหน้า  เพราะบารมีจุฬาฯ  เราต้องมี จิตภักดีกตัญญูกตเวทีตาต่อพระนามจุฬาฯ นี้  ตลอดไป

                หลังจากสอบเทียบ ม. 7-8 ได้ในปีเดียวกันที่โรงเรียนอุทัยทวีเวท  จังหวัดอุทัยธานี  ที่บ้านเกิด (เมื่อต้นปี  2503) คุณพ่อโอนและพี่ถวัลย์  เกรียงไกรสุข  ก็พาข้าพเจ้าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ  เพื่อจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัย  โดยลงรถไฟที่สถานีหัวลำโพง  ก็พากันเข้าพักแรมที่โรงแรมเล็กๆ ใกล้กับสถานีหัวลำโพง  4-5 วัน  ก็พบเพื่อนซึ่งเรียนอยู่วัดสุทธิวราราม  เพื่อนได้ชวนไปเช่าหอพักอยู่ด้วยกัน  ใกล้ๆ หัวลำโพง  (ขณะนี้บริเวณหอพักได้ถูกก่อสร้างเป็นโรงแรมมณเฑียร  โฮเต็ล)  ซึ่งใกล้กับ  สามย่าน  สถานเสาวภา  ติดถนนพระราม 4  เจ้าของหอพักคุณน้าประวิง  ยังเจริญ และเพื่อนได้ถามคุณพ่อกับพี่ชายว่าจะให้ข้าพเจ้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอะไร  ข้าพเจ้าตอบไปว่ามหาวิทยาลัยอะไรก็ได้  เพื่อนบอกว่า  น่าจะเข้าจุฬาฯหรือธรรมศาสตร์  ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนว่า  จุฬาฯหรือธรรมศาสตร์  คืออะไร  อย่างใด  และไม่เคยรู้ว่า  สถานที่ทั้งสองแห่งอยู่ที่ไหน  ถ้าไปก็คงไม่ถูก  ไม่รู้จะขึ้นรถเมล์สายไหน  นอกจากเพื่อนซี้คนนั้น (ขณะนี้บวชเป็นพระ  ชื่อ  สมศักดิ์  หวยสรรค์  อยู่วัดหัวหินยังไม่สึก)  จะเป็นผู้พาไปเท่านั้น  และที่สำคัญความรู้ของข้าพเจ้าจะสู้เขาได้หรือไม่  เพราะต้องสอบคัดเลือกทุกแห่ง  ยิ่งข้าพเจ้าเองอ่อนภาษามาก  เพราะเรียนม.  7  วิทยาศาสตร์  และก็สอบเทียบ ม.  8 วิทยาศาสตร์  ในปีเดียวกัน  ได้คะแนนเพียง  50.40%  เท่านั้น  แล้วจะสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือ  คะแนนเกรดต่ำเช่นนี้?  เพื่อนจึงแนะนำให้รีบไปกวดวิชา

                จึงได้ไปสมัครเรียนกวดวิชาที่โรงเรียนกวดวิชาสามย่าม  แต่โรงเรียนกวดวิชาแห่งนี้เปิดสอนเพียงวันเดียว วันแรกเท่านั้น  โดยได้แจกหนังสือติวเข้มเข้ามหาวิทยาลัย  1 เล่ม  แล้วบอกให้ไปอ่านเอง  โอ้...ข้าพเจ้าเขข้ากรุงเทพฯยังไม่ถึง  10  วัน ก็ถูกหลอกเสียแล้วหรือ  แต่ก็ยังดีที่หนังสือเล่มนั้นได้สรุปแนวข้อสอบรายวิชาต่างๆ ไว้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือ เป็นแนวทางในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ  ได้ทั่วไป  ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ได้ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยอะไรดี  ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน

                ในวันหนึ่ง  ในขณะที่กำลังหาข้อมูลอยู่หลายวันนั้น  เพื่อนก็พาข้าพเจ้าเดินเข้าไปชมการรีดพิษงูที่สถานเสาวภา  ซึ่งมีชาวต่างชาติเที่ยวชมมากมาย  เมื่อชมการรีดพิษงูแล้ว  เพื่อนก็พาเดินทะลุไปโผล่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับสถานเสาวภา  เลี้ยวซ้ายไปประมาณ  100  เมตร  ก็พบป้ายคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ข้าพเจ้าพยายามถามเพื่อนว่า  คณะรัฐศาสตร์นี้เรียนไปทำอะไรกัน  เพื่อนก็ยังตอบ  ไม่รู้

                เราพากันเดินดูบริเวณรอบๆ ตึกคณะรัฐศาสตร์  ก็บังเอิญเห็นซุ้มต้นชงโค  มีดอกเป็นสีชมพูเป็นพุ่มร่มรื่น  มีม้าหินอ่อนวางอยู่  2-3  ตัว ที่ใต้ต้นชงโค  พลันก็มีความรู้สึกผุดขึ้นว่า  น่านั่งอ่านหนังสือจัง  คงจะเย็นสบายๆ  เสร็จแล้วเราก็เดินผ่านซุ้มชงโค  เลยขึ้นไปบนตึกเก่าของคณะรัฐศาสตร์ซึ่งวันนั้นเป็นวันเสาร์ไม่มีคนมากนัก  ก็มีความสงสัยว่า  คณะนี้เมื่อเรียนจบแล้วออกไปทำงานอะไรกันบ้างซึ่งเพื่อน (พระสมศักดิ์)  ก็ยังบอกว่า  ไม่รู้เหมือนกัน  เดินดูนั้น  อ่านนี่  สักครู่ก็พากันออกไปเพื่อจะกลับบ้าน  ผ่านป้ายรถเมล์หน้าคณะซึ่งมีนิสิตชายหญิงหลายคนจับกลุ่มยืนคอยรถเมล์กันอยู่ก็เข้าไปใกล้ๆ แอบฟังว่าเขาจะคุยอะไรกันบ้าง  แว่วๆ เสียงคุยกันถึงเรื่องปัญหาสังคมและปัญหาการเมืองในอินโดจีน  ก็ยังไม่รู้ว่า  ถ้าเรียนจบคณะรัฐศาสตร์แล้วจะได้ทำงานอะไร  เป็นอะไรกันบ้าง

                ต่อมาอีกสองสามวันเพื่อนก็พาไปสมัครสอบที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กรอกใบสมัครด้วยตัวเอง  ข้าพเจ้าจำได้ว่าเลือกคณะรัฐศาสตร์เพียงคณะเดียว  เพราะติดใจซุ้มต้นชงโคดอกสีชมพูนั่นเอง  จำได้ว่าประกาศผลสอบเข้าตามจำนวนทีรับไว้ (ทั้งคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์)  175  คน  มีคนสอบประมาณ  2,000  คน  ข้าพเจ้าสอบได้ลำดับที่  125  ก็ยังดีที่สอบได้  เป็นนักเรียนจบ ม.  8  จากโรงเรียนอุทัยทวีเวทคนเดียวเท่านั้นที่สอบเข้าจุฬาฯ ได้  คนจังหวัดอุทัยธานีทั้งในตลาดในเมืองและตำบลน้ำซึมบ้านนอก  ต่างพากันล่ำลือถึงการเข้าจุฬาฯ ได้  มีเส้นสายใครฝากเข้าหรือเปล่า?  โธ่เอ๋ย!  ข้าพเจ้าสอบได้โดยอาศัยดวง ดวง  ไม่มีเส้นสาย  ไม่มีใครรู้จักจะไปฝากได้เลย  และที่สำคัญจุฬาฯนั้นไม่มีการใช้เส้นสาย  เรียกว่า  จะฝากกันไม่ได้เลยจริงๆ  ถ้าเข้าได้ก็ขึ้นอยู่กับดวง  (บุญวาสนา  บารมี  และฝีมือของตัวเองเท่านั้น)

                เข้าเรียนรัฐศาสตร์  สาขาการปกครองทั่วไป  เป็นรัฐศาสตร์ (สิงห์ดำ)  รุ่น  13  เป็นรุ่นที่เข้าเรียนใน  พ.ศ. 2503  จบ  พ.ศ.  2506 (รับปริญญาต้นปี  2507)  แต่ไม่ได้เกียรตินิยมเหมือนเพื่อนๆ  เพราะภาษาอังกฤษอ่อนมาก ๆ  อยู่กรุ๊ป  C  ตลอด  4  ปี (บอกกระซิบว่า  มีการ  Re-exam  ภาษาอังกฤษของศ.ดร.  จินตนา  ยศสุนทร  และ  ดร.  ลิเดีย   ณ ระนอง  ในปีหนึ่งกับเพื่อน ๆ  อีกหลายคน)

                การ  Re-exam  ในจุฬาฯถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา (ธรรมชาติ) มากๆ  และทุกคนจะคุยโตคุยใหญ่อย่างภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่สามารถสอบผ่าน  Re-exam  ได้  ถือว่ามีประสบการณ์และแกร่งกว่าคนที่ผ่านตลอด  รุ่นที่  13  ที่มี  Re-exam  ปีที่หนึ่งเกือบ 30  คน โก้สุดๆ เลยส่วนปี  2-4  ผ่านฉลุยเด็กบ้านนอก  4  ปีจบก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว

               วิศวะตีกับรัฐศาสตร์  (ปิดมหาวิทยาลัยเป็นเดือน)

                ใช่...แม้จะผ่านมา สี่สิบสองปีแล้วก็ตาม ภาพวิศวะตีกับรัฐศาสตร์ ยังจำได้ดีปีนั้นพ.ศ.  2504  ข้าพเจ้าอยู่ปี  2  สงครามระหว่างคณะนี้ถึงกับ  เลือดตกยางออก  ได้เริ่มจากกีฬาระหว่างคณะ  จำได้ว่าปีนั้นรัฐศาสตร์เป็นแชมป์ฟุตบอลของจุฬาฯ ทำให้คณะที่พ่ายแพ้  โดยเฉพาะคณะวิศวะไม่พอใจคงจะเริ่มจาก  คนสองคน  ที่ไม่ถูกกันเกิดความอาฆาตแค้นจนกลายมาเป็นหมู่  เป็นคณะ ตีกันแหลกในวันไหว้ครู (ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งทุกคณะจะต้องพาน้องใหม่  (Freshy) ไปร่วมพิธีไหว้ครูที่หอประชุมใหญ่ของจุฬาฯ วันนี้ทุกคณะรู้กันดีว่า  รัฐศาสตร์จะต้องถูกวิศวะตีแน่นอน  พวกคณาจารย์  พี่ๆ น้องๆ รัฐศาสตร์ทุกคนก็รู้  รู้กันทุกคน

 รู้ดีว่าจะถูกตีกันแน่ๆ  แต่ด้วยสปิริตของราชสีห์  สิงห์ดำ  นักปกครองและความเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์  (โดยมีท่านคณบดีอาจารย์มาขอร้อง  ไม่ให้พวกเราเตรียมอาวุธติดตัวไปเลย  โดยครูอาจารย์เชื่อในเครดิตของความเป็นสุภาพบุรุษ  และศิษย์ที่ดีว่า  วันไหว้ครูคงไม่มีเรื่องอัปมงคลเกิดขึ้น)

                ขบวนนิสิตคณะรัฐศาสตร์นำโดยหัวหน้าคณะ  ประธานเชียร์  เชียร์ลีดเดอร์  รุ่นพี่ปี  4 , 3  และปี  2  พาน้องใหม่เดินเข้าแถว  เรียง  3-4  เดินจากคณะรัฐศาสตร์ ผ่านคณะวิศวะ  คณะวิทยาศาสตร์  ผ่านคณะอักษรศาสตร์  มุ่งตรงไปที่หอประชุมใหญ่  อย่างสงบเงียบ  สง่าผ่าเผย  พอน้องๆ ปี 1  คณะรัฐศาสตร์เดินเข้าหอประชุมใหญ่เป็นคนสุดท้าย  ข้าพเจ้าซึ่งร่วมเดินตามหลัง  น้องปีหนึ่งมาด้วยพลันก็ได้ยินเสียงนิสิตชายวิศวะในชุดเสื้อสีน้ำเงินกลุ่มใหญ่ ตะโกนว่า เอาโว้ย  พวกเราตีรัฐศาสตร์พร้อมกันนั้นก็มีรถจิ๊ปคันหนึ่งเปิดท้าย  บรรทุกไม้กระบองขนาดหน้า  2  หน้า  3  เต็มท้ายรถคันดังกล่าว  ขับมาจากด้านหลังจอดข้างๆ หอประชุมใหญ่  พร้อมตะโกนอีกว่า  เอาโว้ย  พวกเราตี  รัฐศาสตร์  ไม้กระบองถูกโยนปลิวว่อน  วิศวะวิ่งวุ่นพร้อมกระบองกระโดดเข้าตี  ตีหัวบ้าง  ตีพวกรัฐศาสตร์ที่ยังอยู่ข้างนอกยังไม่ทันเข้าหอประชุมหมด  พวกรัฐศาสตร์ต่างพากันวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงรวมกันไปเป็นกลุ่มๆ ละ  2-3  คน  คนหลายคน(ข้าพเจ้าคนหนึ่ง)วิ่งหนีเข้าหอประชุมบางกลุ่มวิ่งหนีไปทางคณะสถาปัตย์  บ้างก็ไปทางโรงเรียนเตรียมอุดม  ฯลฯ  เรียกว่าหนีกันอุตลุด  ยิ่งมีเสียง    ปัง!  ปัง!  ปัง!  ไล่หลังซึ่งไม่รู้ว่าปืนหรือประทัดด้วย) สิงห์เผ่นก็โกยอ้าวไปกันใหญ่  แต่คนที่ไปไม่พ้นหนีไม่ทันด้วยเป็นห่วงน้องๆก็ปักหลักสู้ ถ้าสู้เพียงลำพัง  ไม้กระบองเราไม่กลัวกัน แต่นี่บางคนเอาอาวุธมีคม  มีลูกกระสุนไปด้วย  ก็พากันบาดเจ็บระนาว  บางคนถูกขว้างด้วยมีดปักฉึก!  กลางหลังด้ามมีดปักโด่!  เห็นแล้วเป็นที่หวาดเสียว  คิดว่าตายแน่แต่ภายหลังทราบว่า  ที่มีดปักฉึกด้ามโด่นั้น  ก็เพราะข้างหลังคนนั้นมีสมุดปกแข็งสองสามเล่มผูกมัดปิดหลังไว้เป็นอย่างดี  เลือดจึงไม่ไหลไม่เป็นไรเลยก็เพราะสมุดปกแข็งช่วยกันไว้ได้  เรียกว่ามีการป้องกันดีเยี่ยม  แต่พวกเรารัฐศาสตร์เสียใจและเสียดายที่มีความเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์ที่ท่านคณบดีขอร้องไว้  ไม่อย่างนั้นคงตายกันหลายคนขนาดนี้คนป่วยก็เต็มโรงพยาบาลจุฬาฯ รุมตีวันไหว้ครูยังไม่พอ  เย็นวันนั้นและวันต่อๆ มาก็ยังคอยดักตี  กระชากลงจากรถเมล์  รถยนต์  มาตีกระทืบกันอีกมากราย

               ภาพวันไหว้ครูวันนั้นยังติดตา  ยังจำไม่ลืมจำภาพตนถูกตีและตีอย่างป่าเถื่อน  เพราะขนาดคนบาดเจ็บมาก  เพื่อนๆ ต้องปลีกช่วยกันหามพยุงไปหาหมอที่โรงพยาบาล  พวกวิศวะยังตีซ้ำๆ  คนเจ็บอย่างไม่มีทางสู้  เข้าใจว่าคนตีคงมีจิตใจเยี่ยงสัตว์หรือยิ่งกว่าสัตว์  ข่าวตีกันดังมาก  ดังไปต่างประเทศ  ทำให้เสียภาพพจน์ของมหาวิทยาลัยมากจนทำให้ ฯพณฯ  นายกรัฐมนตรี  จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  ต้องสั่งให้ปิดจุฬาฯ เป็นเดือนเมื่อเหตุการณ์สงบแล้วจึงเปิดแต่มีพวกรู้เขาบอกว่า  พวกวิศวะนั้น  ได้ชื่อว่า  ช่างกลคนคันเครื่องมือ  ปีนั้นวิศวะหาเรื่องตีกับทุกคณะ  แม้แต่คณะอักษรศาสตร์ซึ่งมีนิสิตชายไม่ถึง  20  คน  ก็ยังถูกรุมตีหลังจาก  พ.ศ. 2504  การตีกันก็ค่อยๆ เบาบางลง เหลือไว้แต่ความทรงจำที่ขำและขมขื่น  ที่ข้าพเจ้านึกขำแต่ขำไม่ออก  เพราะนึกขำตัวเองว่าเอาตัวรอดจากกระบองเป็นร้อยๆได้อย่างไร ที่ขมขื่นก็เพราะเพื่อนๆ บาดเจ็บและถูกตีอย่างไม่มีทางสู้  เพราะความเคารพและเชื่อฟังในเครดิตของครูอาจารย์  ท่านคิดว่าวันไหว้ครูคงไม่มีเรื่องอัปมงคลเกิดขึ้นแน่ๆ (เพราะครูอาจารย์ท่านมองในเชิง  Positive  ของท่านอย่างนั้นยังดีที่ไม่มีคนตาย)

 

                พูดก็พูดเถอะ  พวกเราจุฬาฯเวลาออกมาทำงานข้างนอกรั่วจุฬาฯ  เพื่อรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ  เราจะรักกันมากไม่ว่าจะจบจากคณะไหนพอพบกันเจอกันก็รักกันเหมือนเดิม  เหมือนพี่น้องคลานตามกันมาเพียงแต่นึกขำๆ นึกถึงเหตุการณ์วันนั้น ว่า มันตลกดียิ่งกว่าตลก  ข้าพเจ้าเองความเจ็บแค้นมันหายไปหมด  นับแต่วันพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกคนคือ  จุฬาฯ สีชมพู  สีแห่งความรัก  ความเลิศหรู  ชาวชมพูยึดมั่น  SOTUS (S = อาวุโส, O = ระเบียบ, T = ประเพณี, U = สามัคคี, S = มีน้ำใจ) ทุกท่าน  อย่างมั่นคงโดยเทิดพระนามจุฬาฯ  เหนือสิ่งอื่นใด

                ในชีวิตข้าราชการนักปกครองของข้าพเจ้า  ยึดมั่นใน  Sotus  เสมอ  แม้ว่าข้าพเจ้าเองจะได้เรียนจบ  เหลืองแดงด้วย  เพราะได้ต่อปริญญาโทที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจบพบ.ม.  เกียรตินิยม  ดี  ที่นิดา  (ระหว่างปี  2507-2513) ก็ตาม  ความมั่นคงหนักแน่นยังแม่นยำล้ำลึกกับคำว่า  CU  และจุฬาฯ  ระหว่างที่รับราชการดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ  จ่าจังหวัด  นายอำเภอ  ผู้ช่วยปลัดจังหวัด  และปลัดจังหวัด  (หรือแม้แต่รองผู้ว่าฯ  และผู้ว่าราชการจังหวัด)  เวลามีงานฟุตบอลประเพณีจุฬา ธรรมศาสตร์  ข้าพเจ้าไม่สนใจว่าเจ้านาย  C E O  จะเป็นสิงห์ดำหรือสิงห์แดง  ข้าพเจ้าจะใส่เสื้อจุฬาสีชมพุเสมอและไม่แคร์กับใครๆ ทั้งสิ้นคงจะด้วยเหตุนี้กระมังข้าพเจ้าจึงไม่รีรอไม่อิดเอื้อน  ถ้ามีปัญหาว่านายหรือรุ้นพี่ CU  ไม่กล้า  นายบางคนไม่กล้ากลัวตาขาวแม้แต่จะเป็นประธานจัดงาน  วัน  23  ตุลา วันจุฬาฯ  วันราตรีสีชมพู  วันปิยะมหาราชก็ยังไม่กล้าเลย

        ตลอดอายุราชการ  33 ปี  ได้สำแดงความจงรักภักดีด้วยการรับใช้บ้านเมืองด้วย

ความซื่อสัตย์สุจริต  100 %  เพื่อรักษาพระนามจุฬาฯ  และกล้าที่จะแสดงออกถึงความจงรักภักดี ความจริงใจอย่างเป็นรูปธรรมต่อสถาบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มิใช่เพียงความคิดหรือนามธรรมเท่านั้น  ข้าพเจ้าได้เคยดำรงตำแหน่งประธานชมรมลายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวสู้งานกิจกรรมตลอดมา  โดยมีสถาบันอื่นคอยจับตามองอยู่  ดังนี้

 

1.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดอุดรธานี  พ.ศ.  2532 – 2534  เป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ อุดรธานี  สมัย  ผวจ.  จรวย  ยิ่งสวัสดิ์  (ชมพู)  และ  ผวจ. ธวัช  โพธิสุนทร (เหลืองแดง)

2.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์  พ.ศ.  2534 – 2536  เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ บุรีรัมย์  สมัย  ผวจ.  ร.อ. สุรจิต  ชมาฤกษ์ (ทหารบก)  พ.ต.ดาวเรือง  นิชรัตน์ (ชมพู)และนายสุพร  เพ็ญพาส  (ชมพู)

3.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์  พ.ศ.  2536 – 2538  เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ กาฬสินธุ์  สมัย  ผวจ.  สนิทวงศ์  อุเทศนันท์ (ชมพู)

4.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี (รอบสอง)  พ.ศ.  2538 – 2539  เป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ อุดรธานี  สมัย  ผวจ. นายดำรง  รัตนพานิช (ชมพู)

5.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร  ได้เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ พิจิตร  (เป็นเองเลย)

6.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ  ได้เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ อำนาจเจริญ 

7.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย  ได้เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ หนองคาย  และครั้งสุดท้าย

8.     แม้ขณะที่เป็นข้าราชการบำนาญมหาดไทย  พ.ศ.  2543 – 2545  ก็ยังอาสาเป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ อุดรธานี  สมัย  ผวจ.เกียรติพันธิ์  น้อยมณี  (เหลืองแดง)  และ  ผวจ.ชัยพร  รัตนะนาคะ  (ปริญญาตรี  โท  ท่านจบเมืองนอก)

                ปีนี้  2546  สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อุดรธานี  จะมีอายุครบรอบ  40  ปี (ในวันที 1  ตุลาคม)  ในฐานะที่  เรา  นิสิตเก่าจุฬาฯ ไม่ว่าท่านใดก็ตาม  ต้องเป็นหนี้และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระปิยมหาราชอย่างยิ่ง  วันที่  23 ตุลาคม  ปิยมหาราช  ชาวจุฬาฯ ทุกคนทุกท่านต้องคึกคัก  ออกมาสำแดงความ  เป็นจุฬาฯ ที่มีความกตัญญูรู้พระคุณ  ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ  โบราณว่าเป็นคนดีต้องเจริญก้าวหน้า

 

                ข้าพเจ้าหวังว่าชาว  CU  จุฬาฯ  อุดรธานีทุกท่าน  คงตระหนักว่า

พระคุณจุฬาฯ หาที่สุดไม่ได้ 

 

จุฬาฯ  เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย  ที่กำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จฯ พระปิยมหาราช  ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะให้มหาวิทยาลัยเป็นสิริแห่งประเทศนี้เป็นสถานอำนวยวิชาความรู้แก่ประชาชาติไทย  โดยไม่เลือกชนชั้น  และไม่มีเวลาเสื่อมสูญ  (คนข้างนอกหลายคนจึงอยากเป็นลูกจุฬาฯ สีชมพู อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมแต่คนข้างในใจดำ  ลืมคำ  ลืมสำนึก  ใน  พระนามลูกจุฬาอย่างงั้นหรือ)

                และใน พ.ศ.  2546  นี้เป็นอภิลักขิตมงคลบรรจบสมัย  150  ปี  แห่งวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจวบกับองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  หรือ  UNESCO  ได้ประกาศยกย่องเฉลิมพระเกียรติพระองค์ว่า  ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก  ทางสาขาการศึกษา  วัฒนธรรม  สังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์  การพัฒนาสังคมและการสื่อสาร  นับเป็นโอกาสสำคัญควรแก่การเฉลิมฉลองด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมบำเพ็ญความกตัญญูตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่าน

                ด้วยการสมทบทุนเป็นทุนก่อสร้างอาคาร  ที่ทำการสมาคมฯ  หลังใหม่ให้มั่นคงถาวรเสียที  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ขอให้ทุกท่านได้เข้าร่วมประชุมสมาคมฯ ทุกครั้ง  ตลอดจนให้คำแนะนำและร่วมในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของสมาคมฯ ให้สมกับ  ท่านเป็นคนดีมีความกตัญญูรู้พระคุณจุฬาฯ ที่ให้การศึกษา  ให้ชีวิตที่มีคุณค่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีมาถึง    วันนี้  และที่จะดีรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไปในวันข้างหน้า  อย่างแน่นอน

                จึงขอขอบพระคุณด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง มายังชาว  CU  อุดรธานี ทุกท่านที่มีความสำนึกรู้  ฃอยู่ในสติปัญญาตลอดกาลว่า  พระคุณจุฬาฯ  หาที่สุดไม่ได้

                เราชาวจุฬาฯ ต้องสำแดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อสถาบันนี้  อย่างเป็นรูปธรรมออกมามิใช่เพียงนามธรรม  แค่คำสดุดี (ที่มีอยู่ในใจหรือดีแต่พูด)  เท่านั้น 

                                                                                                                      ด้วยความเคารพรักและยึดมั่นใน Sotus 

                                                                                                                                 สันติ    เกรียงไกรสุข

 

บุคคลตัวอย่าง    ประจำปี  2541

สาขา  นักบริหาร การปกครอง

ผู้ว่าราชการหนองคาย .

โดยมูลนิธิเพื่อสังคมไทย

อ้างจาก หนังสือ “๔0 ปี สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอุดรธานี” (ปี 2546 : หน้า 16-21)