วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

นักวิชาการ ชู ซูเปอร์ฟลัดเวย์ แก้ปัญหาน้ำท่วม

 

14 พ.ย. 54 หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬา เสนอ “11มาตรการแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ: ซุปเปอร์เอ็กซ์เพรสฟลัดเวย์ หนทางฟื้นความเชื่อมั่นประเทศไทย” โดยระบุว่า ที่ผ่านมาการจัดการน้ำของประเทศไทย ยังเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้โครงสร้าง เช่น การขุดลอกคลอง การผันน้ำเข้าทุ่ง สร้างเขื่อน สร้างฝายชะลอน้ำ ฯลฯ แม้จะสามารถแก้ปัญหาระยะสั้น เห็นผลเร็วได้ แต่ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมใหญ่ได้ ทั้งยังมีส่วนเพิ่มความรุนแรงของปัญหา จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ รวม 11 มาตรการ ประกอบด้วย

1.สร้างระบบทางด่วนพิเศษระบายน้ำท่วม (super-express floodway) ที่จะต้องทำเป็นมาตรการแรก เนื่องจากในปี 2533 กทม.มีทางระบายน้ำในฝั่งตะวันออกที่ยังสมบูรณ์ แต่หลังจาก 10 ปีที่ผ่านมา มีการขยายของเมืองจนกั้นทางระบายน้ำของกทม.ทั้งชุมชนเมือง นิคมอุตสาหกรรม และสนามบินสุวรรณภูมิที่ขวางทางน้ำ ดังนั้นวิธีการสร้างทางด่วนพิเศษระบายน้ำท่วม จะต้องใช้คลองเดิมที่เชื่อมไปยังเขื่อนพระราม 6 ที่ จ.ชัยนาท โดยเวนคืนพื้นที่ริมคลองข้างละ 1 กิโลเมตร อาทิ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แล้วสร้างถนนสูง 6 เมตรทั้งสองข้างเป็นถนนมอเตอร์เวย์ระยะทางยาวกว่า 200 กิโลเมตร โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้จะไม่อนุญาตให้อยู่อาศัย แต่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อน้ำท่วมพื้นที่ตรงนี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งแก้มลิง และเป็นพื้นที่ระบายน้ำ โดยจากการคำนวณ สามารถระบายน้ำได้เท่ากับเจ้าพระยา 2 สายรวมกัน ทั้งนี้วิธีนี้จะมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ต้องขุดแม่น้ำใหม่ ส่วนพื้นที่เวนคืนอาจกระทบชาวบ้าน ซึ่งต้องมีการทำประชาพิจารณ์ หากรัฐบาลเห็นความสำคัญก็ควรเร่งทำ

2.ต้องวางแผนแม่บทควบคุมการป้องกันน้ำท่วมโดยใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มน้ำต่างๆ ควบคุมการถมดินทั้งระบบ ควบคุมการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ล่อแหลมน้ำท่วม ปรับปรุงระบบระบายน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ เช่น ขยายประตูน้ำให้สอดคล้องกับขนาดคลองต่างๆ วางระบบการดูแลคูคลองและขุดลอกสม่ำเสมอ

3.ปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ ที่จะต้องศึกษาระบบน้ำในปีต่างๆ ศึกษากลุ่มเมฆฝนว่า ปีหนึ่งๆ จะมีฝนตกลงมาเท่าไหร่ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีคนทำ แต่ทำไม่ครบ ตรงนี้ต้องแม่นว่าตกที่ไหน ตกเท่าไหร่ ตกเมื่อไหร่ บอกได้ทั้งหมด หลายประเทศทำได้

4.วางแผนพัฒนากทม. และเมืองบริวารในอนาคต ที่จะต้องปิดกั้นการขยายตัวของกทม. เพราะน้ำต้องมีที่ระบายแต่หากเป็นพื้นที่เมืองทั้งหมดก็จะต้องขยายระบบป้องกันอีก เหมือนกับต้องขีด กทม.ไม่ให้โตมากกว่านี้ แต่ต้องขยายเมืองอื่นๆ อาทิ จ.ราชบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี ขยายเมืองออกไป แล้วใช้ระบบขนส่งรถไฟความเร็วสูงเข้ามายังกทม.ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง

5.ใช้มาตรการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมและการประกันภัย เพื่อกองทุนชดเชยน้ำท่วม ทั้งภาษีน้ำท่วมโดยตรงจากพื้นที่ที่มีระบบปิดล้อมป้องกันน้ำท่วม ควบคุมขุดน้ำบาดาล กำหนดระยะเพาะปลูก ออกกฎหมายป้องกันชาวบ้านรื้อคันตามใจชอบ

6.มาตรการควบคุมการใช้ที่ดินและผังเมืองโดยใช้แผนที่เสี่ยงน้ำท่วม

7.ควบคุมการขุดน้ำบาดาล ควบคุมการทรุดของแผ่นดิน ซึ่งจะช่วยให้ระบบระบายน้ำดีขึ้น

8.มาตรการแผนแม่บทกำหนดระยะเวลาการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องกับการแปรปรวนและผกผันของภูมิอากาศในอนาคต เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร

9.มาตรการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่แก้มลิงให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนในพื้นที่ล่อแหล่มเสี่ยงน้ำท่วม

10.ควรเร่งพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการพิบัติภัยทั้งระบบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการพิบัติภัยของภาครัฐ เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้ฝืนคำสั่ง เช่น การรื้อคันกั้นน้ำอย่างที่เป็นอยู่

11.ควรจัดตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องพิบัติภัยและส่งเสริมงานวิจัยทั้งระบบอย่างจริงจัง เพื่อลดพิบัติภัยด้วยความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่

พระคุณจุฬาฯ หาที่สุดมิได้

 

ประสบการณ์ชีวิตในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ย่อมให้คำตอบที่ดีแก่ตัวเราเองได้ว่า  เราควรจะทำอะไรให้แก่จุฬาฯ  ได้บ้าง...  อย่างน้อยๆ  การเข้าประชุม  นิสิตเก่าจุฬาฯ  ที่นัดประชุมไว้ก็เป็นการสำแดงสปิริต  เป็นรูปธรรมที่ดีเยี่ยม  แต่หากได้ร่วมคิดและได้ร่วมทำเพื่อพระนามจุฬาฯ  ก็ยิ่งเพิ่มวาสนา  บุญญาบารมี ให้แก่ตัวเราเองได้เจริญยิ่งขึ้น

                ข้าพเจ้าเป็นคนบ้านนอก  ลูกชาวไร่ชาวนา  ไม่เคยเข้าเมืองหลวงเลย  แต่เมื่อจบ ม. 8  ก็จำเป็นต้องเข้ากรุงเทพฯ  ไม่รู้ว่าจุฬาฯ คืออะไร  อย่างใด ? แต่    วันนี้  ได้สำนึก  รู้  อยู่เสมอว่า  พระคุณจุฬาฯ  หาที่สุดมิได้  จึงได้รับตำแหน่งประธานชมรม  และนายกสมาคม  นิสิตเก่าจุฬาฯ ถึง  8 สมัย โดยไม่อิดเอื้อน  แม้ปัจจุบัน  เพราะมีคติว่า  เราได้ดี  มีความก้าวหน้า  เพราะบารมีจุฬาฯ  เราต้องมี จิตภักดีกตัญญูกตเวทีตาต่อพระนามจุฬาฯ นี้  ตลอดไป

                หลังจากสอบเทียบ ม. 7-8 ได้ในปีเดียวกันที่โรงเรียนอุทัยทวีเวท  จังหวัดอุทัยธานี  ที่บ้านเกิด (เมื่อต้นปี  2503) คุณพ่อโอนและพี่ถวัลย์  เกรียงไกรสุข  ก็พาข้าพเจ้าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ  เพื่อจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัย  โดยลงรถไฟที่สถานีหัวลำโพง  ก็พากันเข้าพักแรมที่โรงแรมเล็กๆ ใกล้กับสถานีหัวลำโพง  4-5 วัน  ก็พบเพื่อนซึ่งเรียนอยู่วัดสุทธิวราราม  เพื่อนได้ชวนไปเช่าหอพักอยู่ด้วยกัน  ใกล้ๆ หัวลำโพง  (ขณะนี้บริเวณหอพักได้ถูกก่อสร้างเป็นโรงแรมมณเฑียร  โฮเต็ล)  ซึ่งใกล้กับ  สามย่าน  สถานเสาวภา  ติดถนนพระราม 4  เจ้าของหอพักคุณน้าประวิง  ยังเจริญ และเพื่อนได้ถามคุณพ่อกับพี่ชายว่าจะให้ข้าพเจ้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอะไร  ข้าพเจ้าตอบไปว่ามหาวิทยาลัยอะไรก็ได้  เพื่อนบอกว่า  น่าจะเข้าจุฬาฯหรือธรรมศาสตร์  ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนว่า  จุฬาฯหรือธรรมศาสตร์  คืออะไร  อย่างใด  และไม่เคยรู้ว่า  สถานที่ทั้งสองแห่งอยู่ที่ไหน  ถ้าไปก็คงไม่ถูก  ไม่รู้จะขึ้นรถเมล์สายไหน  นอกจากเพื่อนซี้คนนั้น (ขณะนี้บวชเป็นพระ  ชื่อ  สมศักดิ์  หวยสรรค์  อยู่วัดหัวหินยังไม่สึก)  จะเป็นผู้พาไปเท่านั้น  และที่สำคัญความรู้ของข้าพเจ้าจะสู้เขาได้หรือไม่  เพราะต้องสอบคัดเลือกทุกแห่ง  ยิ่งข้าพเจ้าเองอ่อนภาษามาก  เพราะเรียนม.  7  วิทยาศาสตร์  และก็สอบเทียบ ม.  8 วิทยาศาสตร์  ในปีเดียวกัน  ได้คะแนนเพียง  50.40%  เท่านั้น  แล้วจะสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือ  คะแนนเกรดต่ำเช่นนี้?  เพื่อนจึงแนะนำให้รีบไปกวดวิชา

                จึงได้ไปสมัครเรียนกวดวิชาที่โรงเรียนกวดวิชาสามย่าม  แต่โรงเรียนกวดวิชาแห่งนี้เปิดสอนเพียงวันเดียว วันแรกเท่านั้น  โดยได้แจกหนังสือติวเข้มเข้ามหาวิทยาลัย  1 เล่ม  แล้วบอกให้ไปอ่านเอง  โอ้...ข้าพเจ้าเขข้ากรุงเทพฯยังไม่ถึง  10  วัน ก็ถูกหลอกเสียแล้วหรือ  แต่ก็ยังดีที่หนังสือเล่มนั้นได้สรุปแนวข้อสอบรายวิชาต่างๆ ไว้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือ เป็นแนวทางในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ  ได้ทั่วไป  ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ได้ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยอะไรดี  ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน

                ในวันหนึ่ง  ในขณะที่กำลังหาข้อมูลอยู่หลายวันนั้น  เพื่อนก็พาข้าพเจ้าเดินเข้าไปชมการรีดพิษงูที่สถานเสาวภา  ซึ่งมีชาวต่างชาติเที่ยวชมมากมาย  เมื่อชมการรีดพิษงูแล้ว  เพื่อนก็พาเดินทะลุไปโผล่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับสถานเสาวภา  เลี้ยวซ้ายไปประมาณ  100  เมตร  ก็พบป้ายคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ข้าพเจ้าพยายามถามเพื่อนว่า  คณะรัฐศาสตร์นี้เรียนไปทำอะไรกัน  เพื่อนก็ยังตอบ  ไม่รู้

                เราพากันเดินดูบริเวณรอบๆ ตึกคณะรัฐศาสตร์  ก็บังเอิญเห็นซุ้มต้นชงโค  มีดอกเป็นสีชมพูเป็นพุ่มร่มรื่น  มีม้าหินอ่อนวางอยู่  2-3  ตัว ที่ใต้ต้นชงโค  พลันก็มีความรู้สึกผุดขึ้นว่า  น่านั่งอ่านหนังสือจัง  คงจะเย็นสบายๆ  เสร็จแล้วเราก็เดินผ่านซุ้มชงโค  เลยขึ้นไปบนตึกเก่าของคณะรัฐศาสตร์ซึ่งวันนั้นเป็นวันเสาร์ไม่มีคนมากนัก  ก็มีความสงสัยว่า  คณะนี้เมื่อเรียนจบแล้วออกไปทำงานอะไรกันบ้างซึ่งเพื่อน (พระสมศักดิ์)  ก็ยังบอกว่า  ไม่รู้เหมือนกัน  เดินดูนั้น  อ่านนี่  สักครู่ก็พากันออกไปเพื่อจะกลับบ้าน  ผ่านป้ายรถเมล์หน้าคณะซึ่งมีนิสิตชายหญิงหลายคนจับกลุ่มยืนคอยรถเมล์กันอยู่ก็เข้าไปใกล้ๆ แอบฟังว่าเขาจะคุยอะไรกันบ้าง  แว่วๆ เสียงคุยกันถึงเรื่องปัญหาสังคมและปัญหาการเมืองในอินโดจีน  ก็ยังไม่รู้ว่า  ถ้าเรียนจบคณะรัฐศาสตร์แล้วจะได้ทำงานอะไร  เป็นอะไรกันบ้าง

                ต่อมาอีกสองสามวันเพื่อนก็พาไปสมัครสอบที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กรอกใบสมัครด้วยตัวเอง  ข้าพเจ้าจำได้ว่าเลือกคณะรัฐศาสตร์เพียงคณะเดียว  เพราะติดใจซุ้มต้นชงโคดอกสีชมพูนั่นเอง  จำได้ว่าประกาศผลสอบเข้าตามจำนวนทีรับไว้ (ทั้งคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์)  175  คน  มีคนสอบประมาณ  2,000  คน  ข้าพเจ้าสอบได้ลำดับที่  125  ก็ยังดีที่สอบได้  เป็นนักเรียนจบ ม.  8  จากโรงเรียนอุทัยทวีเวทคนเดียวเท่านั้นที่สอบเข้าจุฬาฯ ได้  คนจังหวัดอุทัยธานีทั้งในตลาดในเมืองและตำบลน้ำซึมบ้านนอก  ต่างพากันล่ำลือถึงการเข้าจุฬาฯ ได้  มีเส้นสายใครฝากเข้าหรือเปล่า?  โธ่เอ๋ย!  ข้าพเจ้าสอบได้โดยอาศัยดวง ดวง  ไม่มีเส้นสาย  ไม่มีใครรู้จักจะไปฝากได้เลย  และที่สำคัญจุฬาฯนั้นไม่มีการใช้เส้นสาย  เรียกว่า  จะฝากกันไม่ได้เลยจริงๆ  ถ้าเข้าได้ก็ขึ้นอยู่กับดวง  (บุญวาสนา  บารมี  และฝีมือของตัวเองเท่านั้น)

                เข้าเรียนรัฐศาสตร์  สาขาการปกครองทั่วไป  เป็นรัฐศาสตร์ (สิงห์ดำ)  รุ่น  13  เป็นรุ่นที่เข้าเรียนใน  พ.ศ. 2503  จบ  พ.ศ.  2506 (รับปริญญาต้นปี  2507)  แต่ไม่ได้เกียรตินิยมเหมือนเพื่อนๆ  เพราะภาษาอังกฤษอ่อนมาก ๆ  อยู่กรุ๊ป  C  ตลอด  4  ปี (บอกกระซิบว่า  มีการ  Re-exam  ภาษาอังกฤษของศ.ดร.  จินตนา  ยศสุนทร  และ  ดร.  ลิเดีย   ณ ระนอง  ในปีหนึ่งกับเพื่อน ๆ  อีกหลายคน)

                การ  Re-exam  ในจุฬาฯถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา (ธรรมชาติ) มากๆ  และทุกคนจะคุยโตคุยใหญ่อย่างภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่สามารถสอบผ่าน  Re-exam  ได้  ถือว่ามีประสบการณ์และแกร่งกว่าคนที่ผ่านตลอด  รุ่นที่  13  ที่มี  Re-exam  ปีที่หนึ่งเกือบ 30  คน โก้สุดๆ เลยส่วนปี  2-4  ผ่านฉลุยเด็กบ้านนอก  4  ปีจบก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว

               วิศวะตีกับรัฐศาสตร์  (ปิดมหาวิทยาลัยเป็นเดือน)

                ใช่...แม้จะผ่านมา สี่สิบสองปีแล้วก็ตาม ภาพวิศวะตีกับรัฐศาสตร์ ยังจำได้ดีปีนั้นพ.ศ.  2504  ข้าพเจ้าอยู่ปี  2  สงครามระหว่างคณะนี้ถึงกับ  เลือดตกยางออก  ได้เริ่มจากกีฬาระหว่างคณะ  จำได้ว่าปีนั้นรัฐศาสตร์เป็นแชมป์ฟุตบอลของจุฬาฯ ทำให้คณะที่พ่ายแพ้  โดยเฉพาะคณะวิศวะไม่พอใจคงจะเริ่มจาก  คนสองคน  ที่ไม่ถูกกันเกิดความอาฆาตแค้นจนกลายมาเป็นหมู่  เป็นคณะ ตีกันแหลกในวันไหว้ครู (ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งทุกคณะจะต้องพาน้องใหม่  (Freshy) ไปร่วมพิธีไหว้ครูที่หอประชุมใหญ่ของจุฬาฯ วันนี้ทุกคณะรู้กันดีว่า  รัฐศาสตร์จะต้องถูกวิศวะตีแน่นอน  พวกคณาจารย์  พี่ๆ น้องๆ รัฐศาสตร์ทุกคนก็รู้  รู้กันทุกคน

 รู้ดีว่าจะถูกตีกันแน่ๆ  แต่ด้วยสปิริตของราชสีห์  สิงห์ดำ  นักปกครองและความเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์  (โดยมีท่านคณบดีอาจารย์มาขอร้อง  ไม่ให้พวกเราเตรียมอาวุธติดตัวไปเลย  โดยครูอาจารย์เชื่อในเครดิตของความเป็นสุภาพบุรุษ  และศิษย์ที่ดีว่า  วันไหว้ครูคงไม่มีเรื่องอัปมงคลเกิดขึ้น)

                ขบวนนิสิตคณะรัฐศาสตร์นำโดยหัวหน้าคณะ  ประธานเชียร์  เชียร์ลีดเดอร์  รุ่นพี่ปี  4 , 3  และปี  2  พาน้องใหม่เดินเข้าแถว  เรียง  3-4  เดินจากคณะรัฐศาสตร์ ผ่านคณะวิศวะ  คณะวิทยาศาสตร์  ผ่านคณะอักษรศาสตร์  มุ่งตรงไปที่หอประชุมใหญ่  อย่างสงบเงียบ  สง่าผ่าเผย  พอน้องๆ ปี 1  คณะรัฐศาสตร์เดินเข้าหอประชุมใหญ่เป็นคนสุดท้าย  ข้าพเจ้าซึ่งร่วมเดินตามหลัง  น้องปีหนึ่งมาด้วยพลันก็ได้ยินเสียงนิสิตชายวิศวะในชุดเสื้อสีน้ำเงินกลุ่มใหญ่ ตะโกนว่า เอาโว้ย  พวกเราตีรัฐศาสตร์พร้อมกันนั้นก็มีรถจิ๊ปคันหนึ่งเปิดท้าย  บรรทุกไม้กระบองขนาดหน้า  2  หน้า  3  เต็มท้ายรถคันดังกล่าว  ขับมาจากด้านหลังจอดข้างๆ หอประชุมใหญ่  พร้อมตะโกนอีกว่า  เอาโว้ย  พวกเราตี  รัฐศาสตร์  ไม้กระบองถูกโยนปลิวว่อน  วิศวะวิ่งวุ่นพร้อมกระบองกระโดดเข้าตี  ตีหัวบ้าง  ตีพวกรัฐศาสตร์ที่ยังอยู่ข้างนอกยังไม่ทันเข้าหอประชุมหมด  พวกรัฐศาสตร์ต่างพากันวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงรวมกันไปเป็นกลุ่มๆ ละ  2-3  คน  คนหลายคน(ข้าพเจ้าคนหนึ่ง)วิ่งหนีเข้าหอประชุมบางกลุ่มวิ่งหนีไปทางคณะสถาปัตย์  บ้างก็ไปทางโรงเรียนเตรียมอุดม  ฯลฯ  เรียกว่าหนีกันอุตลุด  ยิ่งมีเสียง    ปัง!  ปัง!  ปัง!  ไล่หลังซึ่งไม่รู้ว่าปืนหรือประทัดด้วย) สิงห์เผ่นก็โกยอ้าวไปกันใหญ่  แต่คนที่ไปไม่พ้นหนีไม่ทันด้วยเป็นห่วงน้องๆก็ปักหลักสู้ ถ้าสู้เพียงลำพัง  ไม้กระบองเราไม่กลัวกัน แต่นี่บางคนเอาอาวุธมีคม  มีลูกกระสุนไปด้วย  ก็พากันบาดเจ็บระนาว  บางคนถูกขว้างด้วยมีดปักฉึก!  กลางหลังด้ามมีดปักโด่!  เห็นแล้วเป็นที่หวาดเสียว  คิดว่าตายแน่แต่ภายหลังทราบว่า  ที่มีดปักฉึกด้ามโด่นั้น  ก็เพราะข้างหลังคนนั้นมีสมุดปกแข็งสองสามเล่มผูกมัดปิดหลังไว้เป็นอย่างดี  เลือดจึงไม่ไหลไม่เป็นไรเลยก็เพราะสมุดปกแข็งช่วยกันไว้ได้  เรียกว่ามีการป้องกันดีเยี่ยม  แต่พวกเรารัฐศาสตร์เสียใจและเสียดายที่มีความเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์ที่ท่านคณบดีขอร้องไว้  ไม่อย่างนั้นคงตายกันหลายคนขนาดนี้คนป่วยก็เต็มโรงพยาบาลจุฬาฯ รุมตีวันไหว้ครูยังไม่พอ  เย็นวันนั้นและวันต่อๆ มาก็ยังคอยดักตี  กระชากลงจากรถเมล์  รถยนต์  มาตีกระทืบกันอีกมากราย

               ภาพวันไหว้ครูวันนั้นยังติดตา  ยังจำไม่ลืมจำภาพตนถูกตีและตีอย่างป่าเถื่อน  เพราะขนาดคนบาดเจ็บมาก  เพื่อนๆ ต้องปลีกช่วยกันหามพยุงไปหาหมอที่โรงพยาบาล  พวกวิศวะยังตีซ้ำๆ  คนเจ็บอย่างไม่มีทางสู้  เข้าใจว่าคนตีคงมีจิตใจเยี่ยงสัตว์หรือยิ่งกว่าสัตว์  ข่าวตีกันดังมาก  ดังไปต่างประเทศ  ทำให้เสียภาพพจน์ของมหาวิทยาลัยมากจนทำให้ ฯพณฯ  นายกรัฐมนตรี  จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  ต้องสั่งให้ปิดจุฬาฯ เป็นเดือนเมื่อเหตุการณ์สงบแล้วจึงเปิดแต่มีพวกรู้เขาบอกว่า  พวกวิศวะนั้น  ได้ชื่อว่า  ช่างกลคนคันเครื่องมือ  ปีนั้นวิศวะหาเรื่องตีกับทุกคณะ  แม้แต่คณะอักษรศาสตร์ซึ่งมีนิสิตชายไม่ถึง  20  คน  ก็ยังถูกรุมตีหลังจาก  พ.ศ. 2504  การตีกันก็ค่อยๆ เบาบางลง เหลือไว้แต่ความทรงจำที่ขำและขมขื่น  ที่ข้าพเจ้านึกขำแต่ขำไม่ออก  เพราะนึกขำตัวเองว่าเอาตัวรอดจากกระบองเป็นร้อยๆได้อย่างไร ที่ขมขื่นก็เพราะเพื่อนๆ บาดเจ็บและถูกตีอย่างไม่มีทางสู้  เพราะความเคารพและเชื่อฟังในเครดิตของครูอาจารย์  ท่านคิดว่าวันไหว้ครูคงไม่มีเรื่องอัปมงคลเกิดขึ้นแน่ๆ (เพราะครูอาจารย์ท่านมองในเชิง  Positive  ของท่านอย่างนั้นยังดีที่ไม่มีคนตาย)

 

                พูดก็พูดเถอะ  พวกเราจุฬาฯเวลาออกมาทำงานข้างนอกรั่วจุฬาฯ  เพื่อรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ  เราจะรักกันมากไม่ว่าจะจบจากคณะไหนพอพบกันเจอกันก็รักกันเหมือนเดิม  เหมือนพี่น้องคลานตามกันมาเพียงแต่นึกขำๆ นึกถึงเหตุการณ์วันนั้น ว่า มันตลกดียิ่งกว่าตลก  ข้าพเจ้าเองความเจ็บแค้นมันหายไปหมด  นับแต่วันพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกคนคือ  จุฬาฯ สีชมพู  สีแห่งความรัก  ความเลิศหรู  ชาวชมพูยึดมั่น  SOTUS (S = อาวุโส, O = ระเบียบ, T = ประเพณี, U = สามัคคี, S = มีน้ำใจ) ทุกท่าน  อย่างมั่นคงโดยเทิดพระนามจุฬาฯ  เหนือสิ่งอื่นใด

                ในชีวิตข้าราชการนักปกครองของข้าพเจ้า  ยึดมั่นใน  Sotus  เสมอ  แม้ว่าข้าพเจ้าเองจะได้เรียนจบ  เหลืองแดงด้วย  เพราะได้ต่อปริญญาโทที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจบพบ.ม.  เกียรตินิยม  ดี  ที่นิดา  (ระหว่างปี  2507-2513) ก็ตาม  ความมั่นคงหนักแน่นยังแม่นยำล้ำลึกกับคำว่า  CU  และจุฬาฯ  ระหว่างที่รับราชการดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ  จ่าจังหวัด  นายอำเภอ  ผู้ช่วยปลัดจังหวัด  และปลัดจังหวัด  (หรือแม้แต่รองผู้ว่าฯ  และผู้ว่าราชการจังหวัด)  เวลามีงานฟุตบอลประเพณีจุฬา ธรรมศาสตร์  ข้าพเจ้าไม่สนใจว่าเจ้านาย  C E O  จะเป็นสิงห์ดำหรือสิงห์แดง  ข้าพเจ้าจะใส่เสื้อจุฬาสีชมพุเสมอและไม่แคร์กับใครๆ ทั้งสิ้นคงจะด้วยเหตุนี้กระมังข้าพเจ้าจึงไม่รีรอไม่อิดเอื้อน  ถ้ามีปัญหาว่านายหรือรุ้นพี่ CU  ไม่กล้า  นายบางคนไม่กล้ากลัวตาขาวแม้แต่จะเป็นประธานจัดงาน  วัน  23  ตุลา วันจุฬาฯ  วันราตรีสีชมพู  วันปิยะมหาราชก็ยังไม่กล้าเลย

        ตลอดอายุราชการ  33 ปี  ได้สำแดงความจงรักภักดีด้วยการรับใช้บ้านเมืองด้วย

ความซื่อสัตย์สุจริต  100 %  เพื่อรักษาพระนามจุฬาฯ  และกล้าที่จะแสดงออกถึงความจงรักภักดี ความจริงใจอย่างเป็นรูปธรรมต่อสถาบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มิใช่เพียงความคิดหรือนามธรรมเท่านั้น  ข้าพเจ้าได้เคยดำรงตำแหน่งประธานชมรมลายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวสู้งานกิจกรรมตลอดมา  โดยมีสถาบันอื่นคอยจับตามองอยู่  ดังนี้

 

1.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดอุดรธานี  พ.ศ.  2532 – 2534  เป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ อุดรธานี  สมัย  ผวจ.  จรวย  ยิ่งสวัสดิ์  (ชมพู)  และ  ผวจ. ธวัช  โพธิสุนทร (เหลืองแดง)

2.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์  พ.ศ.  2534 – 2536  เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ บุรีรัมย์  สมัย  ผวจ.  ร.อ. สุรจิต  ชมาฤกษ์ (ทหารบก)  พ.ต.ดาวเรือง  นิชรัตน์ (ชมพู)และนายสุพร  เพ็ญพาส  (ชมพู)

3.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์  พ.ศ.  2536 – 2538  เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ กาฬสินธุ์  สมัย  ผวจ.  สนิทวงศ์  อุเทศนันท์ (ชมพู)

4.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี (รอบสอง)  พ.ศ.  2538 – 2539  เป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ อุดรธานี  สมัย  ผวจ. นายดำรง  รัตนพานิช (ชมพู)

5.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร  ได้เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ พิจิตร  (เป็นเองเลย)

6.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ  ได้เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ อำนาจเจริญ 

7.     ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย  ได้เป็นประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ หนองคาย  และครั้งสุดท้าย

8.     แม้ขณะที่เป็นข้าราชการบำนาญมหาดไทย  พ.ศ.  2543 – 2545  ก็ยังอาสาเป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ อุดรธานี  สมัย  ผวจ.เกียรติพันธิ์  น้อยมณี  (เหลืองแดง)  และ  ผวจ.ชัยพร  รัตนะนาคะ  (ปริญญาตรี  โท  ท่านจบเมืองนอก)

                ปีนี้  2546  สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อุดรธานี  จะมีอายุครบรอบ  40  ปี (ในวันที 1  ตุลาคม)  ในฐานะที่  เรา  นิสิตเก่าจุฬาฯ ไม่ว่าท่านใดก็ตาม  ต้องเป็นหนี้และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระปิยมหาราชอย่างยิ่ง  วันที่  23 ตุลาคม  ปิยมหาราช  ชาวจุฬาฯ ทุกคนทุกท่านต้องคึกคัก  ออกมาสำแดงความ  เป็นจุฬาฯ ที่มีความกตัญญูรู้พระคุณ  ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ  โบราณว่าเป็นคนดีต้องเจริญก้าวหน้า

 

                ข้าพเจ้าหวังว่าชาว  CU  จุฬาฯ  อุดรธานีทุกท่าน  คงตระหนักว่า

พระคุณจุฬาฯ หาที่สุดไม่ได้ 

 

จุฬาฯ  เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย  ที่กำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จฯ พระปิยมหาราช  ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะให้มหาวิทยาลัยเป็นสิริแห่งประเทศนี้เป็นสถานอำนวยวิชาความรู้แก่ประชาชาติไทย  โดยไม่เลือกชนชั้น  และไม่มีเวลาเสื่อมสูญ  (คนข้างนอกหลายคนจึงอยากเป็นลูกจุฬาฯ สีชมพู อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมแต่คนข้างในใจดำ  ลืมคำ  ลืมสำนึก  ใน  พระนามลูกจุฬาอย่างงั้นหรือ)

                และใน พ.ศ.  2546  นี้เป็นอภิลักขิตมงคลบรรจบสมัย  150  ปี  แห่งวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจวบกับองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  หรือ  UNESCO  ได้ประกาศยกย่องเฉลิมพระเกียรติพระองค์ว่า  ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก  ทางสาขาการศึกษา  วัฒนธรรม  สังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์  การพัฒนาสังคมและการสื่อสาร  นับเป็นโอกาสสำคัญควรแก่การเฉลิมฉลองด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมบำเพ็ญความกตัญญูตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่าน

                ด้วยการสมทบทุนเป็นทุนก่อสร้างอาคาร  ที่ทำการสมาคมฯ  หลังใหม่ให้มั่นคงถาวรเสียที  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ขอให้ทุกท่านได้เข้าร่วมประชุมสมาคมฯ ทุกครั้ง  ตลอดจนให้คำแนะนำและร่วมในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของสมาคมฯ ให้สมกับ  ท่านเป็นคนดีมีความกตัญญูรู้พระคุณจุฬาฯ ที่ให้การศึกษา  ให้ชีวิตที่มีคุณค่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีมาถึง    วันนี้  และที่จะดีรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไปในวันข้างหน้า  อย่างแน่นอน

                จึงขอขอบพระคุณด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง มายังชาว  CU  อุดรธานี ทุกท่านที่มีความสำนึกรู้  ฃอยู่ในสติปัญญาตลอดกาลว่า  พระคุณจุฬาฯ  หาที่สุดไม่ได้

                เราชาวจุฬาฯ ต้องสำแดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อสถาบันนี้  อย่างเป็นรูปธรรมออกมามิใช่เพียงนามธรรม  แค่คำสดุดี (ที่มีอยู่ในใจหรือดีแต่พูด)  เท่านั้น 

                                                                                                                      ด้วยความเคารพรักและยึดมั่นใน Sotus 

                                                                                                                                 สันติ    เกรียงไกรสุข

 

บุคคลตัวอย่าง    ประจำปี  2541

สาขา  นักบริหาร การปกครอง

ผู้ว่าราชการหนองคาย .

โดยมูลนิธิเพื่อสังคมไทย

อ้างจาก หนังสือ “๔0 ปี สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอุดรธานี” (ปี 2546 : หน้า 16-21)